...

แหล่งผลิตเกลือโบราณลุ่มน้ำสงคราม

+++++แหล่งผลิตเกลือโบราณลุ่มน้ำสงคราม+++++

----- เกลือ เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายทำให้เกลือกลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกเหนือจากการใช้เป็นวัตถุดิบปรุงรสชาติอาหารแล้ว เกลือยังถูกใช้ในการถนอมอาหาร การฟอกหนังสัตว์ เป็นของจำเป็นสำหรับการเดินป่าและการเดินทางไกล เพราะเมื่อขาดเกลือจะทำให้ร่างกายไม่มีแรงและเป็นตะคริวได้ง่าย เกลือจึงเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่า มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยโบราณ

----- แหล่งผลิตเกลือสมัยโบราณที่ใหญ่ที่สุดในแอ่งสกลนคร อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงคราม บริเวณเขตรอยต่อระหว่างอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม พื้นที่สภาพภูมิประเทศโดยรอบตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำอูนกับลำน้ำยาม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงคราม มีลักษณะเป็นที่ราบกว้าง ปัจจุบันมีหนองน้ำที่เกิดจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ่อตาอาด อ่างเก็บน้ำบ่อกอก และอ่างเก็บน้ำหนองฝายท่าเรือ ซึ่งจะมีลำห้วยไหลไปเชื่อมกับห้วยคอกช้างและห้วยน้ำอูนทางด้านทิศตะวันออก หมวดหินชุดสำคัญในบริเวณลุ่มน้ำสงคราม คือ หมวดหินมหาสารคาม (หมวดหินเกลือ) ซึ่งมีแร่โพแทชและเกลือหิน ในสมัยโบราณมีการขุดบ่อน้ำเค็มจากใต้ดิน ซึ่งชั้นเกลือในบริเวณนี้อยู่ในระดับตื้นจึงสะดวกแก่การผลิตเกลือ

----- แหล่งโบราณคดีที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตเกลือจนมีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ บริเวณเขตรอยต่อระหว่างอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ปัจจุบันพบจำนวน ๙ แห่ง ได้แก่

--- ๑. วัดโพนสวรรค์ (โพนสูง) บ้านเม่นใหญ่ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

--- ๒. วัดโคกสะอาด (วัดสุวรรณบรรพต หรือ สำนักสงฆ์โพนช้างขาวสันติธรรม) บ้านโคกสะอาด หมู่ ๗ ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๓. โพนส้มโฮง บ้านท่าเรือ หมู่ ๒ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๔. โพนกอก บ้านท่าเรือ หมู่ ๘ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๕. โพนตุ่น บ้านบะหว้า หมู่ ๗ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๖. โพนจุลณี (โพนน้ำดับ) บ้านบะหว้า หมู่ ๗ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๗. ที่พักสงฆ์ไตรเทพเนรมิต (โพนแต้) บ้านเสียว หมู่ ๘ ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๘. วัดโพธิ์เครือ บ้านเสียว หมู่ ๑๐ ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

--- ๙. สำนักสงฆ์โพนหัวแข้สันติธรรม (โพนหัวแข้) บ้านเสียว หมู่ ๑๐ ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

----- เมื่อประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว บริเวณพื้นที่ราบรอบๆเนินดินโบราณ เคยเป็นแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ หนองน้ำที่ปรากฎในปัจจุบันเมื่อก่อนมีสภาพเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงในฤดูฝน เมื่อเข้าฤดูแล้งเวลาน้ำลดจะมีคราบเกลือจับอยู่ตามผิวดิน ชาวบ้านจำนวนมากจะมาทำเกลือในบริเวณนี้ จนกระทั่ง ๕๐ ปีที่แล้ว จึงเลิกทำไป เพราะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ปัจจุบันในฤดูแล้งจะมีชาวบ้านประมาณ ๓ - ๔ ราย ที่ยังมาทำเกลือใกล้กับเนินดินวัดโพนสวรรค์ (โพนสูง) โดยการทำเกลือในบริเวณนี้ จะใช้วิธีผสมน้ำเกลือกับดินขี้ทาเพื่อเพิ่มความเค็มของน้ำเกลือให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ได้เม็ดเกลือจากการต้มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

----- เคยมีการศึกษาแหล่งผลิตเกลือโบราณโนนทุ่งผีโพน บ้านงิ้วใหม่ ตำบลบ้านงิ้วเก่า อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ในเขตลุ่มน้ำมูลตอนบน โดย Eiji Nitta นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่น สามารถสรุปโดยสังเขปได้ว่า โนนทุ่งผีโพน เป็นเนินดินสูงประมาณ ๖ เมตร โดยรอบเป็นทุ่งนา ในช่วงหน้าแล้งจะมีคราบเกลือจับอยู่ตามผิวหน้าดินรอบตัวเนิน ภาชนะดินเผาส่วนมากมีร่องรอยของการกัดกร่อนและเผาไหม้ จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยกิจกรรมการทำเกลือจำนวน ๙ ชั้น และพบหลักฐานเกี่ยวกับการทำเกลือ ได้แก่ บ่อเก็บน้ำ แอ่งกรองน้ำ เตาดิน เศษภาชนะดินเผาที่ใช้ในการต้มเกลือทรงชามครึ่งวงกลม หม้อทรงกลม กระดูกสัตว์ต่างๆ และหลุมเสาที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นเพิงพักอาศัย กำหนดอายุได้ราว ๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๒ - ๓

----- ลักษณะเนินดินขนาดใหญ่ของแหล่งผลิตเกลือโบราณในลุ่มแม่น้ำสงคราม บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนมแห่งนี้ น่าจะเป็นเนินขยะที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตเกลือ เช่นเดียวกับแหล่งโนนทุ่งผีโพน เพราะมีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นเนินดินขนาดสูงใหญ่ รูปร่างไม่สม่ำเสมอ เนินดินปรากฎชั้นของเศษภาชนะดินเผาจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนหินดุ แสดงให้เห็นถึงการผลิตภาชนะดินเผาในบริเวณเดียวกัน อายุสมัยของแหล่งผลิตเกลือโบราณกลุ่มนี้ ไม่น่าเก่าไปจนถึงช่วงก่อนประวัติศาสตร์ เหมือนที่โนนทุ่งผีโพน เนื่องจากไม่พบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงโดยรอบก็ยังไม่พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบแต่โบราณวัตถุประเภทกล้องยาสูบ ไหจากแหล่งเตาลุ่มแม่น้ำสงคราม เศษอิฐเก่าและเศษกระเบื้องดินเผาจากแหล่งวัดร้าง ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเสียว เป็นต้น จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าแหล่งผลิตเกลือโบราณกลุ่มนี้ น่าจะอยู่สมัยประวัติศาสตร์ช่วงที่ชุมชนสร้างบ้านเมืองมั่นคง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ และอาจร่วมสมัยเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในกลุ่มแหล่งเตาลุ่มแม่น้ำสงครามที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

----- ทั้งนี้ ข้อมูลและข้อสันนิษฐานข้างต้น ยังจะต้องมีการขุดศึกษาทางโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในค่าอายุของการผลิตเกลือในพื้นที่ รวมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------------------------------------------

++ อ้างอิงจาก ++

--- สุธีร์ วีรวรรณ. (๒๕๓๗). “การศึกษาเปรียบเทียบชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีเกี่ยวกับการทำเกลือโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

--- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (๒๕๓๙). “แหล่งผลิตเกลือสมัยโบราณลุ่มน้ำสงคราม.” วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ ๒๒, ฉบับที่ ๔ : ตุลาคม - ธันวาคม.

--- Nitta,Eiji. (1994). “Iron-smelting and Salt-making Industries in Northeast Thailand.” The 15th IPPA Congress, Chiangmai, Thailand, Jan 1.

โดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1216 ครั้ง)