...

องค์ความรู้เรื่อง...ปราสาทบ้านโคกปราสาท ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
องค์ความรู้เรื่อง...ปราสาทบ้านโคกปราสาท ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทบ้านโคกปราสาท เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดเล็ก มีต้นไม้ขึ้นคลุมค่อนข้างหนาแน่น จากร่องรอยที่ปรากฏ สันนิษฐานองค์ประกอบได้ดังนี้
บริเวณปราสาท ปัจจุบันมีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดเล็ก กว้างประมาณ 60 เมตร ยาวประมาณ 70 เมตร บนเนินปรากฏแท่งหินทรายและศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเนิน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านทราบว่า โบราณสถานหลังนี้ถูกลักลอบขุดหาโบราณวัตถุและรื้อย้ายชิ้นส่วนต่าง ๆ หลายครั้ง ทำให้ปราสาทพังทลาย และชิ้นส่วนประกอบอาคารอยู่ในลักษณะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
การดำเนินงานขุดลอกบารายซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาท มีการนำดินมาถมบริเวณโดยรอบปราสาท ซึ่งทำให้ไม่ปรากฏคูน้ำโดยรอบปราสาทที่ชัดเจน แต่จากร่องรอยของพื้นที่ที่เป็นร่องน้ำที่เหลืออยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เดิมมีคูน้ำล้อมรอบปราสาทอยู่ด้วย คูน้ำมีความกว้างประมาณ 10-15 เมตร
บริเวณเนินดินปรากฏแท่งหินทราย ศิลาแลง และอิฐ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาคาร ได้แก่ หน้าบัน ที่ส่วนกรอบหน้าบันสลักลายก้านต่อดอกชี้ลงด้านล่าง ชิ้นส่วนกรอบประตู กรอบหน้าต่าง บัวเชิงผนัง บัวเชิงชายหลังคา ส่วนผนังอาคาร เสาประดับกรอบประตูแบบเสาแปดเหลี่ยม
โบราณวัตถุส่วนหนึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่โรงเรียนบ้านจรเข้มาก ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย เป็นชิ้นส่วนปลายกรอบหน้าบันสลักลายนาคห้าเศียร นาคหัวโล้นไม่มีกระบังหน้า ซึ่งเป็นลักษณะนาคในศิลปะเขมรแบบบาปวน เสาประดับผนัง บัวเชิงผนังสลักลายกลีบบัว บัวยอดปราสาท
ถัดจากตัวปราสาทไปทางตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีบารายตั้งอยู่ บารายมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 270 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร คันดินขอบบารายมีขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร สูงจากพื้นนาโดยรอบ 2-3 เมตร บารายแห่งนี้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า หนองบ้านเก่า หรืออ่างเก็บน้ำโคกปราสาท ซึ่งได้รับการขุดลอกแล้ว ปัจจุบันมีน้ำอยู่ในพื้นที่บางส่วน บารายนี้สร้างคร่อมห้วยบ้านเก่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการกักเก็บน้ำไว้ในบาราย โดยการสร้างคร่อมลำน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันได้มีการขุดลอกบารายไปแล้วเมื่อปี 2543 โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทบ้านโคกปราสาท เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในศิลปะเขมรแบบบาปวน เป็นศาสนสถานของชุมชนในวัฒนธรรมเขมรบริเวณนี้ในอดีต ก่อสร้างโดยใช้ใช้หินทราย แท่งศิลาแลง และอิฐเป็นวัสดุ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ และมีบารายตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก
ข้อมูลโดย นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 2034 ครั้ง)