วงมโหรีพื้นบ้านสุรินทร์
วงมโหรีพื้นบ้านสุรินทร์
 
 
 
          ประเทศไทยมีวงมโหรีมาแต่โบราณ มีการประสมวงมโหรีกับวงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ วงขับไม้ และวงประเภทเครื่องกลองแขก (สุพรรณี เหลือบุญชู ๒๕๒๙ : ๕๒) ในจังหวัดสุรินทร์นิยมเล่นกันแพร่หลายในเขตอำเภอสังขะ และอำเภอเมืองสุรินทร์ จากการสัมภาษณ์นายกุน ผลแมน หัวหน้าวงมโหรีบ้านภูมิโปน ทราบว่าเริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกจากครูนิล ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากข้าหลวง ที่รัฐบาลได้ส่งมาปกครองมณฑลอีสานในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๓๖ – ๒๔๕๑ (หม่อมอมร วงศ์วิจิตร ๒๕๐๖) การเล่นมโหรีจึงได้แพร่หลายสู่ชาวบ้าน ต่อมานายกุน ผลแมน ได้ถ่ายทอดแก่คณะดนตรีหมู่บ้านภูมิโปน และบ้านดม
 
          เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเล่นมโหรีของวงบ้านภูมิโปน – บ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย
 
          ๑. ซอกลาง ลักษณะเหมือนซออู้ แต่มีเสียงสูงกว่าซออู้เล็กน้อย หรือเรียกว่าซออู้เสียงกลาง
 
          ๒. ซออู้ ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว ขึงหนังวัว มีสาย ๒ สาย คันชักทำด้วยขนหางม้า มีเสียงทุ้มนุ่มนวล
 
          ๓. ซอด้วง เป็นซอ ๒ สาย กะโหลกซอทำด้วยไม้ไผ่ ใช้หนังงูเหลือมขึง คันชักทำด้วยขนหางม้า มีเสียงแหลม
 
          ๔. ปี่ใน(ชลัย) เป็นปี่ที่ทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยูงกลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้างเล็กน้อย เจาะเป็นรูกลวงภายใน มีรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเพื่อให้เกิดเสียงต่างๆ เจาะรูปี่ ๖ รู ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลตัดกลมมนซ้อนสี่ชั้น ผูกติดกับโลหะ
 
          ๕. กลองสองหน้า เป็นกลองที่ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้าเสียงแบบเดียวกับตะโพน ใช้มือตีทั้งสองด้าน ใช้ใบเดียวตีประกอบจังหวะในวงมโหรี
 
          ๖. ฉิ่ง เป็นโลหะหล่อหนา ชุดหนึ่งมี ๒ ฝา เสียงจะดังฉิ่ง – ฉับ จำทำหน้าที่เป็นหลักในการบรรเลง
 
          ๗. ฉาบ เป็นโลหะหล่อเช่นเดียวกับฉิ่ง แต่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่าฉิ่ง และบางกว่า จะใช้ฉาบตีขัดกับฉิ่ง เพื่อให้การบรรเลงสนุกสนาน
 
          จากเครื่องดนตรีที่กล่าวมาจะเห็นว่ามีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายและประเภทปี่พาทย์บางชิ้นมาประสมกัน โดยมีซอกลางเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงมโหรี ใช้บรรเลงในงานต่างๆ
 
          เพลงที่ใช้ประกอบในวงมโหรี แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
 
          ๑. เพลงขับร้อง เป็นการบรรเลงดนตรีที่มีคำร้องประกอบ มีทั้งร้องส่ง ร้องคลอ และร้องรับกับการบรรเลงดนตรี เนื้อร้องเป็นภาษาเขมรที่ถ่ายทอดมาแต่ดั้งเดิม บางครั้งเป็นการด้นกลอนสดๆ ให้เข้ากับทำนองเพลง เรียกว่า การเจรียง(ร้อง) จังหวะของเพลงจะตีฉิ่งในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น ประเภทเพลงขับร้อง ได้แก่
 
          เพลงขับร้อง คำร้องของเพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า “อาเล”
 
          เพลงกแอกคเมา (แปลว่า กาดำ)
 
          เพลงซองซาร แปลว่าที่รัก หรือบทเพลงแห่งความรัก ในการเจรียงเพลงนี้จะมีการเรือม(รำ) เกี้ยวกันระหว่างชายหญิง เพราะบทร้องเพลงซองซารจะเป็นบทร้องโต้ตอบระหว่างชาย – หญิง
 
          เพลงกันตบ เป็นบทร้องสอนหญิง
 
          เพลงลาวเสี่ยงเทียน เป็นบทเพลงไทยเดิม เนื้อร้องอาจจะใช้เพลงลาวเสี่ยงเทียน หรืออาจแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาเขมรหากนักร้องมีความชำนาญ
 
          เพลงอายัยโบราณ เป็นการด้นกลอนสด โดยใช้เนื้อร้องตามโอกาส หรืองานที่ไปเล่น การเล่นเพลงนี้จะมีการเรือม(รำ) ประกอบ
 
          เพลงอมตูก หมายถึง พายเรือ เนื้อหาจะกล่าวถึงการพายเรือ และแจวเรือ มีการเรือม(รำ) ประกอบ
 
          เพลงสีนวล เป็นเพลงไทยเดิม
 
          เพลงเขมรปากท่อ เป็นเพลงไทยเดิม
 
          เพลงมลบโดง หมายถึง ร่มมะพร้าว
 
          เพลงตำแร็ยยูลได หมายถึง ช้างแกว่งงวง
 
          เพลงก็อทกรูว
 
          เพลงกระซิงเตียม
 
          เพลงเขมรเป่าใบไม้
 
          เพลงเมื้อนตึก
 
                   ฯลฯ
 
          จะเห็นว่าเพลงขับร้องที่กล่าวมา หรืออาจมากกว่านี้จะมีทั้งเพลงที่เป็นเพลงไทยเดิม และเป็นเพลงภาษาเขมรที่นำมาจากวงกันตรึม มาใช้บรรเลงในวงมโหรีของคณะบ้านภูมิโปนและบ้านดม ลักษณะของเพลงส่วนมากจะเป็นเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ จัดอยู่ในประเภทเพลงเกร็ด หมายถึง เพลงที่ไม่ได้เรียบเรียงเข้าเป็นชุดต่างๆ เช่น เพลงเรื่อง เพลงตับ เพลงเถา ใช้สำหรับบรรเลงในเวลาสั้นๆ
 
          ๒. เพลงบรรเลง หมายถึง เพลงที่ใช้ดนตรีล้วนๆ ไม่มีการร้องหรือเจรียงประกอบ แบ่งออกเป็น
 
                   เพลงโหมโรง เพื่อเป็นการไหว้ครูหรือระลึกถึงครูบาอาจารย์ นอกจากนี้เมื่อเพลงโหมโรงเป็นการประกาศให้ทราบว่า จะมีการแสดงหรือมีมหรสพ การโหมโรงยังเป็นการเตรียมตัวในการบรรเลงเพลงต่อไป เพลงโหมโรงในวงมโหรีของคณะบ้านภูมิโปน – บ้านดม เช่น เพลงหัวคำปัน เป็นเพลงที่ใช้สำหรับขบวนแห่ไม่มีเนื้อร้อง
 
          เพลงหน้าพาทย์ ชาวไทยเขมรจะเรียกว่าเพลง “ประพาทย์” หรือ “หน้าพาทย์” ในวงมโหรีคณะบ้านภูมิโปน – บ้านดม จะบรรเลงเพลงกล่อม เพลงต้นฉิ่ง ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบอากับกิริยา อารมณ์ ของตัวละครที่ทางภาคกลางนำมาใช้หรือใช้สำหรับนาฏศิลป์จากราชสำนัก เพลงหน้าพาทย์ดังกล่าว ชาวบ้านภูมิโปน – บ้านดม นำมาใช้บรรเลงในพิธีมงคลต่างๆ ทั้งด้านเกี่ยวกับศาสนา หรือในพิธีเชิญครู อาจารย์ ให้มาร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะของเพลงหน้าพาทย์จะมีทำนองและจังหวะกำหนดเป็นแบบแผน ไม่มีบทร้อง เป็นการบรรเลงดนตรีอย่างเดียว
 
 
 
บรรณานุกรม
 
เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐.
 
ปฐม คเนจร(หม่อมอมร วงศ์วิจิตร), ม.ร.ว. ประชุมพงศาวดารภาค ๔. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, ๒๕๐๗.
 
วิทยาลัยครูสุรินทร์ เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์. สุรินทร์ : วิทยาลัยครูสุรินทร์, ๒๕๒๖.
 
สุรินทร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เอกสารประกอบการประชุมคณะทำงานทางวิชาการจัดทำข้อมูลการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์. เอกสารอัดสำเนา.

(จำนวนผู้เข้าชม 6356 ครั้ง)