ไม้หนีบข้าว

        ไม้หนีบข้าว

         ไม้หนีบข้าว หรือบางแห่งอาจเรียกว่า ไม้ฟาดข้าว ไม้ตีข้าว หรือไม้นวดข้าว เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น แต่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเหมือนกัน คือการทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง  ไม้หนีบข้าวประกอบด้วยไม้ 2 ท่อน ส่วนใหญ่ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีความยาวอยู่ระหว่าง 70-90 เซนติเมตร ไม้ทั้งสองท่อนมีความยาวขนาดใกล้เคียงกันและมีขนาดความกว้างของไม้ที่สามารถจับได้พอเหมาะพอดีเข้ากับมือ ไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่มีเส้นรอบวงอยู่ระหว่าง 10-13 เซนติเมตร เจาะรูร้อยเชือกบริเวณปลายไม้ทั้งสองแล้วผูกเข้าด้วยกัน เชือกที่ผูกไว้มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร 

ไม้หนีบข้าวใช้หนีบรัดฟ่อนข้าวแล้วยกขึ้นฟาดหรือตี เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง เมล็ดข้าวที่ได้เป็นข้าวเปลือกต้องนำไปสีหรือกะเทาะเปลือกออกก่อน จึงจะได้เป็นข้าวสาร แล้วค่อยนำมาหุงรับประทานได้

         วิธีการใช้งานไม้หนีบข้าว ชาวนาใช้มือจับไม้หนีบข้าวแต่ละท่อน คล้องเชือกเข้ากับฟ่อนข้าวแล้วรัดให้แน่น ยกฟ่อนข้าวขึ้นฟาดกับพื้น หรือฟาดบนวัสดุรองรับต่าง ๆ เช่น ฟาดกับไม้กระดาน ฟาดข้าวในคุ เป็นต้น จนเมล็ดข้าวเปลือกร่วงหลุดออกจากรวง   ปัจจุบันชาวนาแทบจะไม่ใช้ไม้หนีบข้าวแบบนี้ในการนวดข้าวแล้ว เพราะมีรถเกี่ยวข้าวและเครื่องนวดข้าวเข้ามาแทนที่การนวดข้าวแบบดั้งเดิม

 

อ้างอิง

เอี่ยม ทองดี. ข้าว วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2538.

(จำนวนผู้เข้าชม 56 ครั้ง)