...

ประวัติเมืองสุรินทร์
        สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเป็นมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ข้อมูลในพงศาวดาร  เรื่องเล่าตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา  เป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ไทย  เขมร ลาว กวยหรือกูย  ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย  
 
        ตัวเมืองเมืองสุรินทร์   พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์มีมนุษย์เข้ามาตั้งชุมชนแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  ลักษณะชุมชนเป็นเนินดินมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ขนาดกว้างประมาณ  1,000  เมตร  ยาวประมาณ  1,300  เมตร   เป็นลักษณะเฉพาะของแผนผังเมืองโบราณตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นซึ่งพบทั่วไปในเขตภาคอีสานตอนล่าง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุรินทร์ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  95  ตอนที่  98  ลงวันที่  19  กันยายน  2521 
 
        จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่  6   ในปี พ.ศ. 2534  พบว่าตัวเมืองยังมีสภาพที่สมบูรณ์เห็นแนวคูน้ำ-คันดินแบ่งออกเป็น  2  ชั้น  คือ  เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก
 
        เมืองชั้นใน  มีลักษณะเป็นรูปวงรีแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น  มีขนาดกว้างประมาณ  1,000  เมตร  ยาวประมาณ  1,300  เมตร  สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์  มีบางส่วนเท่านั้นที่ขาดหายไป
 
เมืองชั้นนอก  มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชุมชนขอมโบราณ มีคูน้ำ  2  ชั้น  คันดิน  1  ชั้นล้อมรอบ  ขนาดกว้าง  1,500  เมตร  ยาว  2,500  เมตร  สภาพคูเมืองค่อนข้างสมบูรณ์   ยกเว้นด้านทิศใต้
 
        จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  จะเห็นได้ว่า  ตัวเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้  เคยเป็นบ้านเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาล  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองสุรินทร์ในอดีต  ตลอดจนถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น  จึงเป็นหน้าที่อย่างสำคัญที่คนสุรินทร์ในปัจจุบันจะช่วยกันรักษามรดกอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ไว้ตราบชั่วลูกหลาน  ด้วยการไม่บุกรุกทำลายคูน้ำคันดินของเมืองโบราณสุรินทร์ 
 
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุรินทร์
 
 จากการศึกษาวิจัยการและสำรวจพบแหล่งโบราณคดีในจังหวัดสุรินทร์  กว่า 59 แห่ง ส่วนมากเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ ได้แก่
 
 แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี  หมู่บ้านเป็นเนินสูงเกือบ 3 เมตร  พบโบราณวัตถุได้แก่ เศษภาชนะดินเผาแบบต่างๆ รวมทั้งภาชนะเคลือบสีน้ำตาลแบบขอม และพบภาชนะที่ใช้บรรจุมีลักษณะเป็นภาชนะก้นมนขนาดใหญ่ ที่ใช้ในการฝังศพครั้งที่สองของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ที่มีอายุอยู่ในราว 2,000-1,500 ปี มาแล้ว พบมากไปตลอดลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลางแถบจังหวัดบุรีรัมย์  สุรินทร์  มหาสารคาม  ร้อยเอ็ด เป็นลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้   ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
 
 แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นที่ตั้งของปราสาททนง เป็นโบราณสถานขอมชึ่งกรมศิลปากรมีโครงการขุดแต่ง ในปี พ.ศ.2536 และได้ขุดตรวจชั้นดินทางด้านหลังของโบราณสถาน พบหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงการอยุ่อาศัยของมนุษย์มาก่อนจะสร้างปราสาท คือ โครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุประมาณ 35- 40 ปี ปัจจุบันได้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
 
นอกจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแหล่งนี้แล้ว ยังไม่มีการขุดค้นตามหลักวิชาการในอีกกว่า 50 แห่ง อาศัยเพียงเทียบเคียงค่าอายุกับแหล่งอื่น ๆ พอสรุปได้ว่ามีอายุอยู่ในราว 2,000-1,500 ปีมาแล้ว 
 
 สมัยประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุรินทร์
 
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบหลักฐานชุมชนสมัยทวารวดีทั้งภูมิภาค  เมืองโบราณที่สำคัญ เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์  เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมืองกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมืองโบราณบ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทวารวดี นั่นคือ การนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งก่อให้เกิดงานศิลปกรรมที่เนื่องในศาสนา  ตามเมืองหรือชุมชนโบราณสมัยทวารวดีจะพบว่ามีการสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือ รูปเคารพในศาสนาพุทธขึ้น ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ใบเสมา เป็นต้น
 
แหล่งวัฒนธรรมทวารวดีในสุรินทร์
 
          วัฒนธรรมทวารวดี  ประมาณพุทธศตวรรษที่  12-16 หรือราว 1,000-1,400  ปีมาแล้ว
 
 ในภาคอีสานตอนล่าง   ชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุเดียวกับชุมชน ในจังหวัดต่างๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล เช่น เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เมืองโบราณบ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ เมืองโบราณบ้านประเคียบ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เมืองคงโคก อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ชุมชนโบราณบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ( กรมศิลปากร, 2532 : 114 - 116 ) เป็นต้น
 
          ลักษณะชุมชนวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดสุรินทร์มักจะมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนา เช่น ใบเสมา พระพุทธรูป  พระพิมพ์ เป็นต้น
 
        ชุมชนโบราณบ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ บริเวณบ้านตรึม มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า หนองสิม  ภายในวัดตรึม  เป็นเนินดินมีใบเสมาปักอยู่ 16 ใบ  ลักษณะเป็นแบบแผ่นรูปกลีบบัว ทำด้วยศิลาแลงและหินบะชอลต์ ใบเสมาทุกใบจะมีลักษณะของการตกแต่งที่เหมือนกัน นั่นคือ แกะสลักเป็นรูปหม้อน้ำ อยู่ตรงกลางใบทั้งสองด้าน ยอดเป็นกรวยแหลมบรรจบกับส่วนบนของใบเสมาพอดี ขอบใบเสมาแกะเป็นเส้นตรงโค้งไปตามขอบ ทำให้ดูเหมือนว่าผิวหน้าทั้งสองด้านของใบเสมายื่นออกมา  ปัจจุบันทางวัดได้สร้างอาคารคลุมใบเสมาและเนินดินไว้
 
        ชุมชนโบราณบ้านไพรขลา ตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์  เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบใบเสมา  ที่โนนสิมมาใหญ่ และโนนสิมมาน้อย
 
          โนนสิมมาใหญ่
 
          อยู่ภายในหมู่บ้านทางทิศใต้  มีกลุ่มใบเสมาจำนวนมาก  ปักอยู่ในตำแหน่งทิศทั้งแปดบางส่วนถูกเคลื่อนย้าย   มาเก็บรวมกันไว้ในอาคารขนาดเล็ก ใบเสมาทั้งหมดทำจากศิลาแลง เป็นแผ่นรูปกลีบบัว ตรงกลางใบเป็นรูปหม้อน้ำมียอดเป็นรูปกรวยแหลม  หรือเป็นสันขึ้นมาทั้งสองด้าน ลักษณะการตกแต่งเหมือนกับใบเสมาที่บ้านตรึม
 
          โนนสิมมาน้อย
 
          อยู่ทางทิศตะวันตกภายในหมู่บ้าน  บริเวณนี้พบใบเสมาจำนวนเล็กน้อยอยู่รวมกันเพียงจุดเดียว  ใบเสมาบางใบน่าจะปักอยู่ในตำแหน่งเดิม  โดยมีการย้ายใบเสมาใบอื่น ๆ มาวางรวมกันไว้  ลักษณะของใบเสมาเหมือนกับใบเสมาที่โนนสิมมาใหญ่  เป็นใบเสมาแบบแผ่นรูปกลีบบัว ตรงกลางใบทำเป็นสันทั้งสองด้าน ทั้งหมดทำจากศิลาแลง
 
          ใบเสมาที่พบสันนิษฐานว่าปักไว้เพื่อกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์  เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนั้น
 
วัฒนธรรมขอมโบราณในสุรินทร์
 
          จังหวัดสุรินทร์ด้านทิศใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา  มีเทือกเขาพนมดงรักกั้นเขตแดน   มีการเดินทางติดต่อกันมาแต่โบราณผ่านทางช่องเขา เช่น ช่องจอม อ.กาบเชิง ช่องตาเมือน อ.พนมดงรัก เป็นต้น  ทำให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันมาตลอด  โดยเฉพาะในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18   โดยศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบดังนี้
 
           ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ    จังหวัดสุรินทร์มีการสร้างปราสาทภูมิโพน ที่ ต.ดม อ.สังขะ เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ในศาสนาฮินดูศิลปะขอมโบราณสมัยไพรกเมง (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ,2532)ประกอบด้วยปราสาทอิฐ  3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง    พบชิ้นส่วนจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต   1 ชิ้น  ซึ่งมีใช้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13  ทับหลังรูปสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งนก ประกอบวงโค้งที่มีวงกลมรูปไข่  ศิลปะขอมโบราณแบบไพรกเมง จำนวน 1 แผ่น  
 
          บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาท  500 เมตร มีหนองปรือซึ่งเป็นบารายขนาดใหญ่ แบบวัฒนธรรมขอมโบราณ  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 300X500 เมตร อยู่ 1 แห่ง
 
          ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 (ประมาณ 1,100 ปีมาแล้ว) ในเขตจังหวัดสุรินทร์  มีชุมชนวัฒนธรรมเขมรโบราณที่สำคัญอีก 2 แห่ง   คือ ชุมชนปราสาทหมื่นชัย บ้านถนน และชุมชนปราสาทบ้านจารย์  ต.บ้านจารย์  อ.สังขะ   
 
          ปราสาทบ้านจารย์  เป็นปราสาทศิลปะขอมโบราณสมัยเกาะแกร์ ราวกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 15  เป็นปราสาทองค์เดียว ก่อด้วยอิฐ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ  ปัจจุบันตัวปราสาทมีสภาพหักพังเหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ  บนตัวปราสาทมีทับหลังขนาดใหญ่สลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
 
                   ปราสาทหมื่นชัย  เป็นปราสาทองค์เดียว ก่อด้วยอิฐ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ  ปัจจุบันตัวปราสาทมีสภาพหักพังเหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ
 
        ปราสาทตาเมือนธม  บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์    เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ก่อด้วยหินทราย และศิลาแลง
 
          ปราสาททนง  บ้านปราสาท ต.ปราสาททนง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ หินทราย และศิลาแลง  ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยสองส่วน  คือ พลับพลาและปราสาทประธาน
 
          ปราสาทบ้านไพล  บ้านปราสาท ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์  เป็นปราสาทอิฐ 3 องค์ มีขนาดเท่ากันตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ  
 
        ต่อมาในช่วงอารยธรรมขอมในประเทศกัมพูชาได้เจริญถึงขีดสุดราวพุทธศตวรรษที่  16 – 18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย  พบปราสาทหินและเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบขอม  เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เมืองพิมาย อันมีปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลางของเมือง  ตัวเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่  เป็นต้น  ช่วงระยะเวลานี้มีหลักฐานว่าเมืองสุรินทร์ได้รับอิทธิพลอารยธรรมของขอมโบราณอย่างมากเช่นกัน มีการปรับแผนผังเมืองให้ใหญ่ขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบขอมโบราณมีคูน้ำ  2  ชั้น  คันดิน  1  ชั้น  ล้อมรอบ  ขนาดกว้าง  1,500  เมตร  ยาว  2,500  เมตร  ล้อมรอบตัวเมืองเดิมรูปวงรีในสมัยก่อนหน้านั้นไว้ภายในอีกชั้นหนึ่ง ส่วนพื้นที่อำเภอต่างๆ พบปราสาทขอมโบราณอีกหลายแห่ง 
 
        ในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ 18 อารยธรรมขอมโบราณเสื่อมลง  เมืองสุรินทร์น่าจะเป็นบ้านเมืองสืบมาจนถึงในราวสมัยอยุธยาตอนปลายราวต้นพุทธศตวรรษที่  24  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  พระมหากษัตริย์ แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา  โปรดเกล้าฯ ให้ยกชุมชนหลายแห่งในจังหวัดสุรินทร์เป็นเมือง  ตัวเมืองสุรินทร์ในขณะนั้นเรียกว่า  “ บ้านคูประทายสมัน “  จึงโปรดให้ยกขึ้นเป็นเมืองคูประทายสมัน มีพระสุรินทร์ภักดีเป็นเจ้าเมือง  ทำราชการขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย 
 
        สมัยกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  โปรดเกล้าฯ ยกฐานะเจ้าเมืองคูประทายสมันขึ้นเป็นพระยา นามว่า พระยาสุรินทร์ภักดี ปกครองเมืองคูประทายสมัน ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
 
        สมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดเกล้าฯ ให้เมืองในบริเวณนี้หลายเมือง ได้แก่ เมืองคูประทายสมัน เมืองขุขันธ์  และเมืองสังฆะ อันเป็นเมืองที่มีความชอบในราชการสงคราม  ทำราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองคูประทายสมัน  เป็นเมืองสุรินทร์  ตามชื่อเจ้าเมืองในคราวเดียวกัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 26330 ครั้ง)