ห้องยุทธหัตถี
การรบบนหลังช้างหรือการกระทำยุทธหัตถี ถือว่าเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครองในดินแดนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดีย

ห้องเมืองยุทธหัตถี

            การรบบนหลังช้างหรือการกระทำยุทธหัตถี ถือว่าเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครองในดินแดนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดีย คือ ลังกา และเอเชียอาคเนย์ การสู้รบบนหลังช้างที่เก่าแก่และรู้จักกันดีปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา เป็นการกระทำยุทธหัตถีระหว่างพระเจ้าทุฎฐคามณีอภัยกษัตริย์ลังกา กับพระเจ้าเอฬารทมิฬกษัตริย์ทมิฬ ซึ่งพระเจ้าทุฎฐคามณีอภัยทรงมีชัยชนะ

            ในประวัติศาสตร์ไทย การสงครามบนช้างเกิดขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่สุโขทัยครั้งที่พ่อขุนบางกลางหาว ขับไล่ขอมออกจากกรุงสุโขทัย, เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามณีสู้รบกับขุนจังและท้าวอีจาน และครั้งที่สำคัญคือคราวที่พ่อขุนรามคำแห่งทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

            ในสมัยอยุธยานั้น เหตุการณ์สู้รบบนหลังช้างมีหลายครั้งด้วยกัน คือ ครั้งที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสในสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ทรงชนช้างเพื่อชิงราชสมบัติ และสิ้นพระชนม์บนคอช้างทั้งสองพระองค์, ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระราชโอรสชนช้างกับหมื่นดั้งนคร, ในสงครามพระยาเชลียงยกทัพเข้าตีเมืองกำแพงเพชร  เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๖, ในสงครามกับพม่า พ.ศ. ๒๐๙๑ ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับพระเจ้าแปร ซึ่งในครั้งนั้น สมเด็จพระสุริโยทัยทรงปลอมพระองค์เป็นชายเข้าช่วยพระสวามี ทำให้สิ้นพระชนม์บนคอช้าง และครั้งสุดท้ายซึ่งถือว่าเป็นยุทธหัตถีครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อพ.ศ. ๒๑๓๕ เป็นการสู้รบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี เหตุการณ์ในครั้งนั้น พระมหาอุปราชายกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรทรงรับสั่งให้กองทัพที่จะยกไปตีเขมร ให้ไปตั้งมั่นที่ป่าโมกเพื่อรอกองทัพหลวงที่จะไปเมืองสุพรรณบุรี และรับสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์และพระราชฤทธานนท์ยกกองทัพหัวเมืองไปขัดตาทัพข้าศึกที่ลำน้ำบ้านคอย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อกองทัพหลวงยกมาถึงเมืองสุพรรณบุรีที่บ้านสามโก้ ข้ามลำน้ำสุพรรณบุรีที่ท่าท้าวอู่ทองถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่าย กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ปะทะกองทัพพม่าที่ดอนเผาข้าว กองทัพไทยแตกร่น สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างพระที่นั่งไชยานุภาพหรือพลายภูเขาทอง และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักร หรือพลายบุญเรือง ช้างทรงของทั้งสองพระองค์ตกมันวิ่งไล่เข้าไปอยู่ท่ามกลางข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรทรงท้าพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถี พระมหาอุปราชาทรงช้างพลายพัทธกอ ช้างทรงพระมหาอุปราชาดันช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถอยเบนไป พระมหาอุปราชาจึงจ้วงฟันด้วยของ้าว ถูกพระมาลาเบี่ยงไป ขณะนั้นช้างพระที่นั่งถอยมาถึงจอมปลวกแห่งหนึ่ง จึงมีกำลังยันดันช้างของพระมหาอุปราชาเบนไป ได้ล่างแบกถนัดสมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงจ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงชนช้างชนะแม่ทัพมังจาปะโร กรุงศรีอยุธยาจึงได้ชัยชนะ ซึ่งในครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ครั้นล่วงมาในกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงดำริอยากเห็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น จึงมีรับสั่งให้พระยาสุพรรณบุรี (อี้  กรรณสูต) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้นไปสืบหาเจดีย์องค์นี้

ต่อมาพระยาสุพรรณบุรีได้พบเจดีย์ยุทธหัตถีเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๔๖ และทำรายงานขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อแรกพบนั้นพระเจดีย์มีลักษณะเป็นเนินดินสูง มีต้นไม้ปกคลุมทั่วไป เมื่อถากถางแล้ว ปรากฏเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม บนฐานก่ออิฐ ๓ ชั้น ขนาดกว้างประมาณ ๑๐ วา ส่วนยอดพังลงมา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งพระองค์ทรงให้ความสนพระทัยและได้มีพระอุตสาหะเสด็จฯไปนมัสการเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๖ และมีพระราชดำริให้บูรณะ โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรออกแบบ แต่การบูรณะไม่แล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ การบูรณะพระเจดีย์ยุทธหัตถีดังกล่าวเริ่มขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลปัจจุบันพ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วเสร็จในพ.ศ. ๒๕๐๐ พร้อมกับการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เจดีย์ยุทธหัตถีในปัจจุบันมีความสูงทั้งสิ้น ๖๖.๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมออกแบบสร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้

(จำนวนผู้เข้าชม 1389 ครั้ง)