...

จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ" (ตอนที่ 2)
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าสงขลาเป็นปลายทางแรกของสยามที่เมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าเดินทางมาถึง อย่างไรก็ตาม พบหลักฐานว่ากาแฟเป็นที่รู้จักในเมืองสงขลามาอย่างยาวนานกว่านั้น...
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ขอเสิร์ฟเครื่องดื่มแห่งการเรียนรู้ เนื่องในนิทรรศการพิเศษ "จากอาระเบียสู่สงขลา : การเดินทางของกาแฟ" (ตอนที่ 2)  





...................................................................................
Producer & Script Writer : Thiranad Meenoon 
Editor & Animator : Pakamas Leeskul 
Narrator : Jerdja Rujirat
Music : Warm Feeling By Frumhere, Kevatta
....................................................................................
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การปรากฏตัวในฐานะพืชเศรษฐกิจ
กาแฟปรากฏตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการด้วยการนำพาของมหาอำนาจยุโรปในฐานะ “พืชเศรษฐกิจ” อันมุ่งหวังเป็นฐานการผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดโลก โดยกาแฟต้นแรกหยั่งรากลงบนเกาะชวาในปี 1690 จากนั้นการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์เริ่มกระจายไปทั่วภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งร้านกาแฟในระยะแรกเปิดให้บริการชาวตะวันตกที่อาศัยในดินแดนอาณานิคม กระทั่งล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มคนท้องถิ่นและกระจายตัวไปทั่วภูมิภาค  
สยาม : เครื่องดื่มรสขมเครื่องหมายความศิวิไลซ์
กาแฟเดินทางมาถึงสยามอย่างช้าที่สุดก็ในราวปลายศตวรรษที่ 17 ด้วยในบันทึกชาวต่างชาติสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ จดหมายเหตุลาลูแบร์ และสำเภากษัตริย์สุลัยมาน (The Ship of Sulaiman) ระบุว่าในสยามดื่มกาแฟที่มาจากโลกอาหรับ นิยมใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง กระทั่งในศตวรรษที่ 19 พบว่ามีการทำไร่กาแฟที่เมืองจันทบูร ดังปรากฏในบันทึกของสังฆราชชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว (Mgr.Jean-Baptiste Pallegoix) รวมถึงมีหมายรับสั่งของรัชกาลที่ 3 ให้ใช้ที่ดินด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังเป็นสวนกาแฟ ตลอดจนบันทึกรายวันของเซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ระบุถึงไร่กาแฟบริเวณบางกอกฝั่งตะวันตก (ธนบุรี) กระทั่งล่วงเข้าสู่ต้นรัชกาลที่ 5 จึงได้ปรากฏชื่อกาแฟในรายการสินค้าส่งออกของสยาม ตลอดจนมีนโยบายส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างจริงจังในเมืองตรัง เมื่อปี 1891 
อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟระยะแรกยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงเพื่อแสดงถึงความศิวิไลซ์ โดยพบว่าเริ่มนิยมดื่มผสมนมวัวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และปรากฏหลักฐานกล่าวถึงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและอาหารเช้าอย่างฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้กาแฟยังคงเป็นเครื่องดื่มสำหรับรับรองชาวต่างชาติ ระบุในบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสยามในปลายศตวรรษที่ 19 
โดยร้านกาแฟร้านแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือร้าน Red Cross Tea Room ก่อตั้งโดย แหม่มโคล (Miss Edna Sarah Cole) ในปี 1917 ให้บริการแก่ลูกค้าชาวตะวันตก คหบดี และชนชั้นสูง ต่อมาร้านกาแฟร้านแรกโดยชาวสยามปรากฏตัวขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของกลุ่มชนชั้นสูงคือ “ร้านนรสิงห์” จนล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ 7 ร้านกาแฟจึงค่อย ๆ เพิ่มจำนวนและขยายความนิยมไปสู่ชนชั้นกลาง สอดคล้องกับการกลับมาของนักเรียนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้นำพาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแบบตะวันตกเข้ามาแพร่หลาย รวมถึงมีชาวจีนอพยพเปิดร้านกาแฟ “เอี๊ยะแซ” ขึ้นในย่านเยาวราช ซึ่งต่อมาได้กลายศูนย์รวมของผู้คน ในที่สุดร้านกาแฟก็ขยายไปสู่ทุกกลุ่มคน กระจายตัวไปทุกหนแห่งและกลายเป็นศูนย์รวมข่าวสาร 
สงขลา : การมาถึงของกาแฟสายพันธุ์ใหม่  
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าสงขลาเป็นปลายทางแรกของสยามที่เมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าเดินทางมาถึง ก่อนจะขยายไปจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ โดยข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงเกษตร เมื่อปี 1955 ระบุว่า ชาวมุสลิมผู้หนึ่งนำมาปลูกไว้ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อยราวปี 1904 
อย่างไรก็ตาม พบหลักฐานว่ากาแฟเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ปกครองสงขลาแล้วก่อนปี 1859 อันเป็นปีที่รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสเมืองสงขลา ด้วยมีบันทึกกล่าวถึงการถวายเครื่องกาแฟกาไหล่ทองคำ จากนั้นรายงานสถานภาพเมืองสงขลาปี 1894 ระบุว่าที่ดินชายแดนเมืองไทรบุรีมีความเหมาะสมต่อการทำสวนกาแฟ และมีชาวต่างชาติเข้ามาสำรวจและพอใจที่ดินบริเวณตำบลพตง (พะตง) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ นำมาสู่การร่วมทุนของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) หลวงจำนงนิเวศกิจ (มร.แรมแซ) และมิสเตอร์ฮาร์ริซันทำสวนกาแฟในปี 1894-1895 
ทั้งนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเริ่มขึ้นเมื่อใด ทว่าร้านกาแฟระยะแรกน่าจะอยู่ในรูปแบบ “โกปี้เตี๊ยม” หรือร้านกาแฟดั้งเดิมที่ดำเนินการโดยชาวจีนอพยพ ซึ่งพบแพร่หลายในคาบสมุทรมลายู โดยปรากฏร้านเก่าแก่อายุกว่า 90 ปีบนถนนนางงาม เช่น ร้านฮับเซ่ง ร้านน่ำหลี ร้านฟุเจา เป็นต้น และในบทความบรรยายสภาพเมืองสงขลาในปี 1938 กล่าวถึงร้านกาแฟของชาวจีนในตลาดใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงน่าจะเป็นระยะที่ร้านกาแฟเริ่มปรากฏตัวอย่างแพร่หลาย ขณะที่เมล็ดกาแฟนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นหลัก ปัจจุบันร้านกาแฟกระจายตัวแน่นหนาบนถนนนครนอก นครใน และนางงาม ที่ซึ่งกาแฟออกเดินทางจากอาระเบียมาถึงสงขลาอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด
....................................................................................
อ้างอิง 
1. คเณศ กังวานสุรไกร. (2565). เส้นทาง “กาแฟ” จากพืช ถึงเครื่องดื่มทางศาสนา แล้วเป็นธุรกิจฮิตทั่วโลกได้อย่างไร. เข้าถึงเมื่อ 30 กรกฎาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/culture/art...
2. เชื้อ ธรรมทิน สุวรรณรัต. (2509). การปลูกและการผลิตกาแฟ ภาคปฏิบัติของกรมการปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นายศุข สงวนน้อย ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 13 มกราคม 2509).
3. เญาฮาเราะห์ ยอมใหญ่. (2554). เส้นทางกาแฟจากเยเมนถึงลอนดอนในศตวรรษที่ 10-17. เข้าถึงเมื่อ 30 กรกฎาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.publicpostonline.net/8855
4. ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. (2527). สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. เอกสารทางวิชาการ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. เข้าถึงได้้จากhttp://www.openbase.in.th/files/ebook...
5. โดม ไกรปกรณ์. (2557). “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยอาณานิคม : มองผ่านการผลิตและบริโภคกาแฟ.” ภาษาและวัฒนธรรม 33, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 5-20. 
6. ธนพร สิงหกลางพล. (2557). วัฒนธรรมกาแฟของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีศึกษาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวพม่า. ภาคนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
7. พรรณนีย์ วิชชาชู, บรรณาธิการ. (2561). “ย้อนรอยประวัติศาสตร์กาแฟโลก.” พืชสวน 33, 1 (มกราคม-เมษายน): 4-13.
8. ลาลูแบร์,มองซิเออร์ เดอ. (2457). จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. แปลโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ: ปรีดาลัย เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 เข้าถึงได้จาก: https://cupdf.com/document/-155720def...
9. ศรินธร รัตน์เจริญขจร. (2544). ร้านกาแฟ: ความหมายในวัฒนธรรมไทยยุคบริโภคนิยม. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
10. สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2484. [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2564 เข้าถึงได้จาก https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุ....
11. สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์. (2563). เมื่อสยามต้องการส่งออก "ข้าวแฝ่". เข้าถึงเมื่อ 30 กรกฎาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://m.museumsiam.org/dadetail2.ph...
12. สแตนเดจ, ทอม. (2565). ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 7. แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
13. สุกัญญา สุจฉายา. “อาหารไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา.” วารสารมนุษยศาสตร์ 24, 2(กรกฎาคม-ธันวาคม 2560): 1-29.
14. สำนักราชเลขาธิการ. (2537). หนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมหมาย ฮุนตระกูล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ธันวาคม 2536).
15. อรวรรณ วิชัยลักษณ์, พิสมัย พึ่งวิกรัย และณัฐธิดา ห้าวหาญ. (2557). การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมการเกษตร.
16. Hewitt, Robert. (1872). Coffee: Its History, Cultivation, and Uses. New York: D. Appleton and company. 
17. Kucukkomurler, Saime and Ozgen, Leyla. (2009). Coffee and Turkish Coffee Culture. Accessed July 30, 2022. Available from file:///C:/Users/HP-PT/Downloads/Coffee_and_Turkish_Coffee_Culture.pd

(จำนวนผู้เข้าชม 573 ครั้ง)