...

วันสงขลา 2564 (174 ปีแห่งการสถาปนาเมืองสงขลา (บ่ยาง))
วันสงขลา ๒๕๖๔
๑๗๙ ปี แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
พ.ศ.๒๓๗๙ สร้างกำแพงเมืองใหม่ 
          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการ ขึ้น ณ บริเวณสันทรายในเขตท้องที่ตำบล  บ่อยาง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมืองสงขลาในขณะนั้น ปรากฎความในพงษาวดารเมืองสงขลา ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(บุญสังข์) ว่า
“...ครั้นณปีวอกอัฐศก ลุศักราช ๑๑๙๘ มีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาให้ต่อก่อกำแพงเมืองสงขลา พระราชทานเงินส่วยอากรเมืองสงขลาให้พระยาสงขลา ใช้จ่ายในการก่อกำแพงสองร้อยชั่ง...”
พ.ศ.๒๓๘๕ ฝังหลักไชยเมืองสงขลา 
          เมื่อก่อสร้างกำแพงเมืองสงขลาแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา)จัดการพิธีแห่แหนหลักไม้ชัยพฤกษ์พระราชทานในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๔ ปีขาลจัตวาศก และทำพิธีเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา ในวันศุกร์ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๔ ปีขาลจัตวาศก เวลาเช้าโมงหนึ่งกับสิบนาที ตรงกับวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๓๘๕ แล้วจัดให้มีการฉลองหลักเมือง ๕ วัน ๕ คืน เป็นการเอิกเกริก
ดินแดนเมืองสงขลา
          เมืองสงขลานั้นเดิมเป็นหมู่บ้านปากน้ำสังกัดเมืองพัทลุง ต่อมาดาโต๊ะโมกอล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเมืองซิงกอราขึ้นในราวปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และแยกตัวตั้งเป็นประเทศเอกราชระหว่างพ.ศ.๒๑๘๕-๒๒๒๓ จากนั้นจึงถูกลดฐานลงเป็นเมืองตรีขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชจนสิ้นสมัยอยุธยา
          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เจ้าสงขลาเมืองมีความชอบในราชการจึงได้ยกขึ้นเป็นเมืองโทขึ้นตรงกับกรมพระกลาโหมที่กรุงเทพฯรวมทั้งได้รับพระราชทานที่พะตงการำมาอยู่ภายใต้การปกครอง และในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓-๕ ได้รับพระราชทานโอนที่พะโคะ ที่พังลา ที่กำแพงเพชร จากเมืองพัทลุง รวมทั้งโอนดินแดนสะเดา จากเมืองไทรบุรีมาอยู่ภายใต้การปกครองด้วย และเมื่อมีการนำระบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ จึงมีการโอนดินแดนเมืองจะนะและเทพา มาเป็นส่วนหนึ่งของสงขลา
          นอกจากนี้สงขลายังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้กำกับบริเวณ ๗ หัวเมืองคือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี รามันห์ ระแงะ และยาลอแล้ว รวมทั้งเคยเป็นผู้กำกับเมืองสตูลอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะมอบให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ดูแลในพ.ศ.๒๓๘๗ และยังกำกับหัวเมืองประเทศราชมลายูคือเมืองตรังกานูด้วย
ในปัจจุบันสงขลามีฐานะเป็นจังหวัดประกอบด้วย ๑๖ อำเภอคือ กระแสสินธุ์ คลองหอยโข่ง ควนเนียง จะนะ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ สทิงพระ สะเดา สะบ้าย้อย สิงหนคร และหาดใหญ่
กำเนิดวันสงขลา
          วันสงขลาถูกกำหนดขึ้นตามประกาศจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ เรื่อง กำหนด “วันสงขลา” ลงนามโดยนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในขณะนั้น และจัดให้มีกิจกรรมต่อเนื่องทุกปีมาจนปัจจุบัน 
พิธีสมโภชศาลหลักเมืองสงขลา ๒๕๖๔
          วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นวันครบรอบ ๑๗๙ ปีแห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง) จังหวัดสงขลาจึงได้จัดให้มีพิธีสมโภชศาลหลักเมืองขึ้น โดยมีการประกอบพิธีทางศาสนาทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายพุทธ โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และประชาชนชาวสงขลา เข้าร่วมพิธี
----------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย  นายสารัท  ชลอสันติสกุล  นักโบราณคดีชำนาญการ l กลุ่มโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
 

(จำนวนผู้เข้าชม 3051 ครั้ง)