...

เรื่องเล่าจากบันทึกเหตุการณ์ : การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานและมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติจัดเตรียมกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก
----------------
-เขียงฝึก-
ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การฝึกอบรมกำลังพลฝีพายคือขั้นตอนสำคัญลำดับแรกเริ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะและความรู้พื้นฐานด้านการพายเรือพระราชพิธีให้แก่กำลังพลฝีพาย นายเรือ และนายท้าย แบ่งช่วงระยะการฝึกอบรมออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การฝึกอบรมพายเรือบนบก ระยะที่ 2 การฝึกพายเรือในน้ำ (บ่อพักเรือ) และระยะที่ 3 การฝึกเข้ารูปขบวนเรือในแม่น้ำ
การฝึกอบรมพายเรือบนบก คือการฝึกพายเรือบน “เขียงฝึก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกฝนท่าทางการปฏิบัติของกำลังพลฝีพายก่อนที่จะลงเรือจริง ทำให้กำลังพลฝีพายเกิดความคุ้นชิน สามารถจัดระเบียบร่างกายได้อย่างถูกต้องพร้อมเพรียงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เขียงฝึกที่ใช้ในการฝึกนี้ เรียกว่า เขียงไม้ มีลักษณะเป็นไม้กระดานต่อกันสูงขึ้นเหนือจากพื้น โดยจำลองโครงสร้างให้คล้ายคลึงกับเรือพระราชพิธี ส่วนที่กำลังพลฝีพายใช้นั่ง เรียกว่า “กระทง” ซึ่งเป็นไม้กระดานหน้าเรียบ วางเรียงกันในแนวขวาง แบ่งช่องว่างเป็นตอน ๆ ด้วยระยะห่างเท่ากันเหมือนกับกระทงยึดกราบเรือ ด้านล่างกระทงต่อไม้สำหรับกำลังพลฝีพายวางและยันเท้า เรียกว่า “ไม้วางเท้า” ด้านบนตรงกลางกระทรงวางไม้ทับเป็นแนวยาว เรียกว่า “ไม้ทับกระทง”
นอกจากไม้กระดานแล้ว การก่อสร้างเขียงฝึกในปัจจุบันยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความคงทนแข็งแรงของโครงสร้างเขียงฝึกเป็นสำคัญ เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักของกำลังพลฝีพายเป็นจำนวนมาก อนึ่ง การฝึกอบรมกำลังพลฝีพายบนเขียงฝึกในครั้งนี้ กองทัพเรือวางแผนกำหนดการซ้อมตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 แบ่งพื้นที่การฝึกเป็น 12 พื้นที่ มีเขียงฝึกจำนวนทั้งสิ้น 20 เขียง
เรียบเรียงโดย นางสาวเบญญา แสงคล้าย นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 24 ครั้ง)