...

ประเพณีวันเข้าพรรษา
ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายเรื่องวันเข้าพรรษาไว้ ดังนี้ เข้าพรรษา เริ่มในวันแรม 1 ค่ำเดือนแปดในปีปรกติ และเริ่มวันแรม 1 ค่ำเดือนแปดหลัง ในปีที่มีเดือนแปดสองหน ซึ่งเรียกว่า อธิกมาส วันแรม 1 ค่ำ เรียกว่า วันเข้าพรรษา พรรษาสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเรียกว่า ออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน ห้ามเดินทางไปค้างแรมที่อื่น นอกจากในกรณีจำเป็นเป็นพิเศษ เรียกว่า อยู่จำพรรษา
ประเพณีเทศกาลพรรษาในประเทศไทย
เทศกาลเข้าพรรษา ถือเป็นเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งพุทธศาสนิกชนไทยนับแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกและประชาชนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีการทำบุญในวันเข้าพรรษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ความว่า "... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน..." ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ประเพณีในเทศกาลเข้าพรรษายังถูกกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน อาทิ การทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในเทศกาลเข้าพรรษา การพระราชกุศลทรงหล่อเทียนพรรษา การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม ซึ่งได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้จะขอยกตัวอย่างประเพณีที่เกี่ยวเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุโดยสังเขป ดังนี้
การพระราชกุศลทรงหล่อเทียนพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บอกบุญ นำสีผึ้งมาช่วยหล่อ โดยสำนักพระราชวังจะแจ้งให้พระบรมวงศานุวศ์ องคมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งขี้ผึ้งมาร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษาได้ ดังปรากฏเอกสารจดหมายเหตุที่สำนักพระราชวังมีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องการพระราชกุศลหล่อเทียนวรรษา 2500
เจ้าพนักงานพระราชพิธีจะอัญเชิญเทียนพรรษาที่หล่อและตกแต่งลวดลายแล้วถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย แล้วอัญเชิญเทียนพรรษาสำหรับทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจดียสถานตามพระอารามหลวงสำคัญในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดต่าง ๆ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา
การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา ในช่วงก่อนพุทธศักราช 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากที่ทางคณะสงฆ์มีการกำหนดให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ในปีพุทธศักราช 2501 สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอาสฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยอีกวันหนึ่ง เรียกว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา
พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา บางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงจุดเทียนพรรษา จุดเทียนเครื่องนมัสการและทรงถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 150 รูป ในวันเข้าพรรษาทุกปี เป็นการแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนิกชนทั่วไปนั้น ในเทศกาลเข้าพรรษาถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา ที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ ร่วมกันหล่อเทียนพรรษา จัดขบวนแห่เทียนพรรษา ถวายเทียนเข้าพรรษาหรือหลอดไฟ จุดบูชาตามอาราม และเพื่อให้พระภิกษุ สามเณรนำไปจุดอ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างจำพรรษา เป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง และถวายผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) พร้อมด้วยจตุปัจจัยถวายแด่พระภิกษุ สามเณร และรักษาอุโบสถศีล อธิษฐานตั้งใจทำความดี หรืองดเว้นอบายมุขต่าง ๆ ตามกำลังศรัทธาและความสามารถของตน อาทิ งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ ตลอดพรรษากาล
ผู้เรียบเรียง นางสาวธิดา อ้นหอม นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
--------------------
อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2552.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. พระราชพิธีและรัฐพิธีในรัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2550.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.22/5 เรื่องเข้าพรรษา พ.ศ. 2475-2484-2501
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพส่วนบุคคล เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ภ.สบ.19.2.1/43 เรื่อง แห่เทียนพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพเหตุการณ์ร่วมสมัย ฉ/ร/675 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงเจิมเทียนพรรษาที่จะทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัย ยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (2521)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพเหตุการณ์ร่วมสมัย ฉ/ร/916 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร เนื่องในโอกาสเทศกาลเข้าพรรษา (2522)
วันเข้าพรรษา ราชบัณฑิตยสถาน เข้าถึงได้จาก https://web.archive.org/.../th/knowledge/detail.php...
จารึกพ่อขุนรามคำแหง ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/47
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 4222 ครั้ง)