อานม้าประดับวงศ์
อานม้าประดับวงศ์
เครื่องรองนั่งบนหลังม้าทำจากไม้ เป็นแท่นวงรีและแอ่นโค้ง ด้านบนทาสีแดง เจาะช่องตรงกลางตามแนวยาวสำหรับวางผ้าบุนวม และด้านข้างเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสำหรับผูกสายโกลน มีเชิงยื่นออกมาเป็นขามุมมนด้านละสองข้าง ติดห่วงกลมทำจากโลหะใช้คล้องสายเหาและเครื่องผูก พนักรอบนอกประดับมุก ทำจากชิ้นเปลือกมุกขนาดเล็กต่อกันปูพื้นจนเต็ม ขอบรอบนอกทำจากโลหะตีลายวงกลมเรียงต่อกัน พนักด้านหลังค่อนข้างเตี้ยตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนทำเป็นลวดลายก้านขด ส่วนพนักด้านหน้าสูงมีความโค้งเว้าปลายงอน ใช้คล้องวางเก็บสายบังเหียน ตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนผูกลายใบโพธิ์ ภายในผูกเป็นลายก้านขด
ฝีมือพระยาเพ็ชรพิชัย (ทองจีน) บิดาเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) ทำให้บุตรของท่านเนื่องในวันเกียรติยศฯ เมื่อใช้ประกอบการแสดงขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลาในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ.๒๔๒๔ โดยกรมศิลปากรรับมอบจากคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘
คำว่า “สวรรคต” หมายถึง การเสด็จสู่สวรรค์ นับเป็นการสิ้นสุดภารกิจบนโลกมนุษย์ ดังนั้นการแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ จึงไม่ได้ถือเป็นเรื่องโศกเศร้า ใช้สำหรับการแสดงความอาลัย ความกตัญญูกตเวที และสนองพระมหากรุณาธิคุณ ให้ฝูงชนที่มาช่วยงานได้ชมมหรสพเป็นการผ่อนคลาย ฉากงานมหรสพสมโภชในวรรณคดีจึงมีความโศกเศร้าปนกับความยินดี
เมื่ออัญเชิญพระโกศมายังพระเมรุมาศ มหรสพแต่ละประเภทจะเริ่มการแสดงทันที ดังบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ระบุไว้ว่า “...ครั้นพระศพชักมาถึงหน้าเมรุ ก็โห่ฉาวกราวเขนขึ้นอึงมี่ ต่างเล่นเต้นรำทำท่วงที เสียงฆ้องกลองตีทุกโรงงาน...”
ในช่วงแรกเริ่มการจัดแสดงมหรสพเข้าร่วม มีเฉพาะ “มหรสพหลวง” ต่อมาจึงได้มีการละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นตามชาติพันธ์ และศิลปะป้องกันตัวเข้าไปด้วย เปลี่ยนแปลงรูปแบบตามความนิยมของยุคสมัยและพระราชประสงค์ อาทิ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นำ “รำโคมญวน” เข้ามาแสดงในมหรสพออกพระเมรุด้วย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดชกมวยได้รับความนิยมอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ จัดมหรสพประเภทป้องกันตัว อาทิ การรำง้าวประลอง รำทวน ชกมวย และกระบี่กระบอง ถวายทอดพระเนตรในการพระศพ
จากจดหมายเหตุราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๑ กล่าวถึง งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ว่ามีการจัดแสดงมหรสพ ประกอบด้วย โขน หุ่น งิ้ว หนัง มวย ตีพลอง รำง้าว รำทวน และรำโคมสิงห์โตมังกร สำหรับทอดพระเนตรหมุนเวียนกันหน้าพลับพลาที่ประทับ
“ขี่ม้ารำทวน” เป็นการแสดงประเภทรำอาวุธ ปรากฎในวรรณกรรมเรื่อง อิเหนา และราชาธิราช ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการควบคุมม้าและร่ายรำอาวุธยาว สำหรับ “อวดฝีมือ” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยตั้งแต่คราวฝึกซ้อมก่อนเริ่มแสดงในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเสด็จออกพลับพลาทอดพระเนตรการแสดงมหรสพประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง
“ วันที่ ๔๕๐๖ วัน ๗ ๕ฯ ๔ ค่ำ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ บ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จออกพลับพลา ทรงโปรยสลากมะนาวแล้วโปรดให้ทิ้งทาน เวลาค่ำทรงจุดดอกไม้ การมหรศพมีเหมือนทุกวัน... อนึ่งผู้ซึ่งรำทวนในงานคราวนี้ คือ นายสนิทหุ้มแพร นายเสน่ห์หุ้มแพร นายเล่ห์อาวุธหุ้มแพ นายสรรพวิไชยหุ้มแพร นายชิตหุ้มแพร นายฉันหุ้มแพร นายรองชิต นายรองสรรพวิไชย นายรองพิจิตร นายพินมหาดเล็กบุตรพระยาศรีสรราช ‘นายพรมหาดเล็กบุตรพระยารัตนโกษา’ นายเชยมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยาพลเทพ นายบุญมากมหาดเล็กบุตรพระนรินทรราชเสนี หม่อมกลมในพระองค์เจ้าชิตเชื้อพงศ์...”
ปรากฏนามของ “นายพรมหาดเล็กบุตรพระยารัตนโกษา (พระยาเพ็ชรพิชัย) ” ที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก อุปราชมณฑลพายัพ องคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และได้รับพระราชทานนามสกุล “จารุจินดา”
อานม้าประดับวงศ์นี้ เป็นหนึ่งในชุดเครื่องม้าโบราณที่ได้รับจากคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ ภายหลังจากเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัยถึงแก่อสัญกรรม นับเป็นงานประณีตศิลป์เทคนิคการประดับมุกที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างฝีมือ เป็นโบราณวัตถุที่มีความงดงามและบ่งบอกคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ได้อย่างดี
อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๑ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๘
สมศรี เอี่ยมธรรม, บรรณาธิการ. “เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์”. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕
นิชรา ทองเย็น. มหรสพและการละเล่นในงานพระเมรุ จากจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๑-๕. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๕
ธนโชติ เกียรตินภัทร. ฉากงานพระเมรุมาศและพระเมรุในวรรณคดีไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น: ภาพสะท้อนพระราชพิธี พระบรมศพก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖. ดำรงวิชาการ. ๑๗ ๑(มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๑).
นนทพร อยู่มั่งมี. มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. ศิลปวัฒนธรรม. ๓๘ ๑๒ (ตุลาคม ๒๕๖๐).
สำเนาสัญญาบัตร. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓ หน้า ๑๙๗
ชมรมสายสกุลจารุจินดา. ประวัติบรรพบุรุษ. เข้าถึงเมื่อ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก. http://charuchinda.com/ind.../history/94-2018-04-07-04-55-53
(จำนวนผู้เข้าชม 742 ครั้ง)