To Top

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

RECOVER TOGETHER STEP FORWARD




 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ในอดีตเคยเป็นโรงเก็บเรือหลวง ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือและสำนักพระราชวัง

 

 

เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2482–2488) เรือต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจากระเบิด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรเรือพระราชพิธี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2495 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รักษาโรงเรือและเรือมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงให้กรมศิลปากรและกองทัพเรือเป็นแม่งานในการซ่อมแซมและจัดทำทะเบียนบัญชีเรือพระราชพิธีประเภทต่าง ๆ จนสามารถนำมาใช้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในโอกาสฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ พุทธศักราช 2500 ได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2502 นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในโอกาสสำคัญ ๆ ขึ้นหลายครั้ง

 

 

พุทธศักราช 2517 ในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย กรมศิลปากร จึงเสนอขอยกฐานะโรงเรือพระราชพิธีเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 25 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2517 เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเรือพระราชพิธี จำนวน 8 ลำ ส่วนเรือพระราชพิธีอีก 44 ลำ ฝากเก็บรักษาอยู่ที่ท่าวาสุกรีพื้นที่ของสำนักพระราชวัง 6 ลำ และที่แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ 38 ลำ