To Top

พิพิธภัณฑ์คัดสรร

ของดี ของเด่น ของดัง ของสำคัญและเรื่องราว ที่พิพิธภัณฑ์คัดสรรมานำเสนอ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรงในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โขนเรือเป็นรูปหงส์เหมราช สัตว์หิมพานต์ประเภททวิบาทหรือสัตว์สองขา จะงอยปากแหลมเรียวยาว ปลายเชิดสูงขึ้นเล็กน้อย เขี้ยวขนาดใหญ่ด้านละ 2 เขี้ยว ประดับกระจกเกรียบสีขาวและมีเขี้ยวขนาดเล็กที่งอยปากทั้งสองด้าน กายสีทองอร่าม นัยน์ตากลมโตประดับกระจกเกรียบสีเขียวแซมขาว ลำคอเรียวยาวระหงแลดูสูงสะโอดสะอง แกะสลักลายประจำยามก้านแย่ง ภายในแนวเส้นโค้งของลวดลายถี่ซ้อนกันประหนึ่งขนหงส์ ปิดทองร่องกระจก ประดับกระจกเกรียบสีแดงแซมเขียว ห้อยพู่ขนจามรีสีขาว ประกอบด้วยลูกแก้วชุดบนพวงแก้วและลูกแก้วชุดล่าง สวมมาลัยคอสีขาวเหลือบทองทำเป็นตาข่ายดอกรักคลุมพวงมาลัย ห้อยเครื่องแขวนไทยระย้าทรงเครื่องน้อยโครงรูปดาวร้อยดอกรัก ชายห้อยอุบะตุ้งติ้ง ที่มุมทั้ง 6 และส่วนล่างของระย้าห้อยอุบะ ทัดหูด้วยดอกไม้สีเหลือง - แดง สะดุดตา สะท้อนในเห็นถึงความวิจิตรบรรจงของงานช่างศิลป์ไทย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครอบ 50 ปี พุทธศักราช 2535

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เข้าร่วมในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรก ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 และในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทดแทนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ชำรุดทรุดโทรม หัวเรือจำหลักรูปพญานาค 7 เศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว มีความยาว 45.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์ - พัดโบก - พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชอัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์มีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ท้องเรือลึก 0.91 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน ใช้กำลังพลจำนวน 75 นาย ประกอบด้วย ฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย โขนเรือและตัวเรือสลักเป็นรูปนาคเกี้ยว ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกลำเรือทาสีชมพู ภายในท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา

เรือพระที่อเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ต่อโขนเรือใหม่ สลักลายนาคทั่วทั้งลำ ประดับกระจก และลงรักปิดทอง ท้องเรือทาสีชมพู ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็ก ๆ จำนวนมาก อเนกชาติภุชงค์ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ภุชงฺคะ มาจากคำภาษาสันสกฤต มีความหมายเดียวกันกับนาคะ หรือไทยเรียกว่า นาค เป็นเทพในฮินดูปกรณัมปรัมปรา และสัตว์หิมพานต์ในพระพุทธศาสนา

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรีในลำดับรอง หรือเรือพระที่นั่งรอง การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในอดีตใช้เป็นเรือพลับพลาเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าพระอุโบสถ สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เป็นเรือที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

เรือเอกไชยเหินหาว

เรือเอกไชยเหินหาว

เอกไชยเหินหาว แปลว่า ความเจริญความดีเลิศทะยานสู่ท้องฟ้า เป็นเรือกระบวนปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองรูปเหรา (เห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีลักษณะผสมระหว่างมังกรกับพญานาค หัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงขึ้นสอดคล้องกับชื่อเรือ

เรือเอกไชยเหินหาวลำเดิมสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือได้รับความเสียหายจากระเบิดทางอากาศยาน กรมศิลปากรและกองทัพเรือจึงได้ร่วมกันสร้างเรือเอกไชยเหินหาวขึ้นใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2508 และใช้เป็นเรือพระที่นั่งรองในคราวที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พุทธศักราช 2510 เนื่องจากในครั้งนั้นเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ชำรุด ไม่ปลอดภัยในการนำลงน้ำและเข้าริ้วกระบวน

ปัจจุบันเรือเอกไชยเหินหาวเป็นเรือคู่ชัก คู่กับเรือเอกไชยหลาวทอง จัดอยู่ในริ้วที่ 2 และริ้วที่ 4 ในผังของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขนาบข้างเรือพระที่นั่ง