ตามหาเมืองเงินยาง ตอน 3
องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง : ตามหาเมืองเงินยาง ตอน 3
เรียบเรียงโดย : นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี
. จากตามหาเมืองเงินยางในตอน 1 และ 2 จะพบว่าตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวัติในพงศาวดารภาคที่ 61 ชี้ถึงที่ตั้งเมืองเงินยางต่างกัน โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ชี้ว่าเงินยางน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณไม่ไกลจากดอยตุง ซึ่งเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ เวียงพางคำ บริเวณตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนตำนานสิงหนวติ ในพงศาวดารภาคที่ 61 ชี้ถึงที่ตั้งเมืองเงินยางว่าน่าจะเป็นเมืองเชียงแสน ในตัวอำเภอ เชียงแสน คราวนี้มาดูเอกสารอีกฉบับที่กล่าวถึงเมืองเงินยาง คือ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน
. พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวถึงเมืองเงินยาง ดังนี้
1. ชื่อพงศาวดารเขียนชัดเจนว่าเป็น เงินยาง-เชียงแสน (มีคำว่า “เชียงแสน” ต่อท้าย) / ประเด็นชื่อเมืองมีความเหมือนกันกับตำนานสิงหนวัติที่ชื่อเมืองมีคำว่า เชียงแสน กำกับตั้งแต่ต้น)
2. ลวจังกราช โอปาติกกะลงมา โดยมีบันไดพาดลงมาจากสวรรค์ ลงมาที่หินเลาและหินกอง (ถ้าดูจากคำที่แสดงภูมิสัญฐานพื้นที่ จะเห็นว่า มีก้อนหินหรือภูเขาหิน ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตว่า แนวเขาดอยตุงต่อเนื่องไปทางทิศเหนือคือดอยนางนอน เป็นเทือกเขาหินปูน ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่สาย ในเขต อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) / ประเด็นที่ตั้งเมืองมีความเหมือนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่เมืองน่าจะอยู่บริเวณไม่ไกลจากดอยตุง
3. พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวแตกต่างจาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวติเล็กน้อย โดยกล่าวว่า ลวจังกราชลงบันไดเงินมาประทับอยู่ใต้ต้นพุดซา แต่พื้นเมืองเชียงใหม่และสิงหนวติ กล่าวว่ามาอยู่ใต้ต้นไม้ตัน ซึ่งความในตอนนี้มีความหมายตรงกันคือต้นพุดทรา หรือที่ล้านนาเรียกว่า “มะตัน” แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกใช้คำในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ที่น่าจะมีนัยยะของการเลือกใช้คำพ้องเสียงที่ต้องการให้สัมพันธ์กับการพุทธศาสนา จึงอาจเลือกคำว่า พุด (พุทธ) – ซา หรืออาจแสดงนัยยะของคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง (ที่อาจแสดงให้เห็นว่าพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนเรียบเรียงขึ้นในสมัยหลังที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคกลางมากขึ้นแล้ว)
4. พื้นที่ที่ลวจังกราชโอปาติกกะลงมาชื่อว่า “เชียงสา” ต่างจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวัติกุมาร ที่เรียกว่า “เชียงราว หรือ เชียงลาว” แต่สอดคล้องที่ว่า ในรัชกาลนี้มีการเรียกชื่อเมืองว่า “เงินยาง” ต่อมา
5. มีการกล่าวถึงเมืองเงินยางในอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรัญนคร” โดยกล่าวว่า ลวะจังกราช เสวยเมืองเหรัญนครและไปนมัสการดอยตุงทุกปี และให้พวกทำมีละ(ลัวะ) เป็นผู้รักษาเจดีย์ (ความในตอนนี้ทำให้นึกย้อนถึง คราวที่ตำนานสิงหนวัติกล่าวถึงปู่เจ้าลาวจกถวายตัวเป็นข้าเฝ้าพระธาตุบนดอยตุงจนเมื่อตายจึงไปจุติเป็นเทวดาบนสวรรค์ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า ลาวจกอาจเป็น ทำมีละ หรือ ลัวะ)
6. จากเนื้อหาจะเห็นว่า ลวะจังกราช โอปาติกกะลงมาในพื้นที่บ้านเมืองของชาวยวน โดยต่อมาอีก 6 ปี ชาวยวนได้ยกให้ลวะจังกราชเป็นใหญ่
7. เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ปูยักษ์กัดกินข้าวและทำร้ายชาวเมือง โดยปูได้หนีลงแม่น้ำละว้า (ชื่อแม่น้ำมีนัยยะบอกถึงกลุ่มคนในพื้นที่) และล่องไปถึงแม่น้ำของ(น้ำโขง) ความตอนนี้แสดงให้ว่า พื้นที่เมืองเงินยางของลวะจังกราชน่าจะอยู่ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (เมื่อพิจารณาย้อนทวนทิศทางจากแม่น้ำโขงที่อยู่ทางทิศตะวันออก ไปหาน้ำแม่สายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ตำแหน่งของเมืองเงินยางจากความในตอนนี้จึงน่าจะเป็นเวียงพางคำ ไม่ใช่เชียงแสน
8. มาจนกระทั่ง 10 รัชกาล ถึงยุค ลาวเคียง จึงมีการสร้างกำแพงเมือง โดยมีเขตแดนด้านทิศเหนือถึงน้ำแม่ละว้า ทิศตะวันออกเอาแม่น้ำเป็นแดน โดยให้ราษฏรทำพื้นที่ให้ราบเสมอดีทุกแห่ง ถ้าพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่า พื้นที่ตั้งแต่ตัวอำเภอแม่สาย ต่อเนื่องมาทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นบริเวณกว้างเป็นที่ราบผืนใหญ่ ถ้าพิจารณาตามนี้พอทำให้คิดได้ว่า เงินยาง ที่ลาวเคียงสร้างอาจเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในแอ่งแม่สายนี้ โดยเมืองที่เข้าข่าย คือ “เวียงพางคำ”
9. ในตอนที่ลาวเคียงสร้างเมือง มีการขุดฝังเสาอินทขีล จึงพอเห็นเค้าลางว่าวงศ์ลวะจังกราช มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีเชื้อสายลัวะ
10. มีความเปลี่ยนแปลงชื่อนำหน้ากษัตริย์ โดยใช้คำว่า “ขุน” (ขุนเงิน) จึงเป็นข้อคำถามว่า ธรรมเนียมการใช้คำว่าขุนนำหน้ากษัตริย์เกิดขึ้นมาด้วยเหตุใด (คำนำหน้าที่ถูกเปลี่ยนไปแต่ละห้วงเวลาน่าจะมีนัยยะของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่าง อย่างเช่น มังราย ไม่ใช้คำว่า ลาว นำหน้าเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นนัยยะนี้)
11. มาปรากฏคำเรียกว่า “เมืองเงินยางเชียงแสน” ครั้งแรกในสมัยขุนเจือง เนื้อความกล่าวถึงทัพแกวยกทัพมาต่อสู้กับเมืองเงินยางเชียงแสน (ถ้าถือตามเนื้อหานี้ ชื่อ “เงินยางเชียงแสน” ปรากฏขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17) และบ่งชี้ว่า “เงินยาง” และ “เชียงแสน” คือเมืองเดียวกันจากชื่อ
12. ตำนานแสดงให้เห็นว่าพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เมืองใหญ่แยกเป็น 2 สาย คือ เมืองเงินยางและ ภูกามยาว โดยบทบาทสำคัญน่าจะเป็นภูกามยาวเพราะขุนเจืองปกครอง (แต่ต่อมาขุนเจืองปกครองควบ 2 เมือง)
13. ขุนเจืองตายในปี 1705 โดยสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิในเมืองเหรัญนครเชียงแสน (เห็นได้ว่าในสมัยขุนเจือง เมืองเงินยางถูกเรียกทั้งในชื่อ เงินยางเชียงแสน และ เหรัญนครเชียงแสน)
14. พอถึงรัชกาลขุนแพง (หลานขุนเจือง) ไม่มีการสืบวงศ์กษัตริย์ต่อ (จะเห็นได้ว่ายังคงใช้ “ขุน” นำหน้านามกษัตริย์) เลยไปเอาเชื้อสายเมืองพะเยามาครอง
15. พญามังรายเอาช่างฆ้อง 300 ครัวมาไว้ที่เมืองเชียงแสน (แสดงให้เห็นว่าเชียงแสนน่าจะเป็นเมืองสำคัญและอาจเป็นเมืองต้นวงศ์ของพญามังราย / นั่นคือ เชียงแสนคือเมืองเงินยางที่สืบมา)
. ถ้าดูจากเนื้อหาที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนจะเห็นว่ามีความปะปนกันระหว่างเนื้อหาที่ชี้ว่าเมืองเงินยางคือบริเวณใกล้ดอยตุง-น้ำแม่สาย จากการที่ระบุเชิงเปรียบเทียบทิศทางของเมืองเงินยางว่าอยู่ใกล้น้ำแม่ละว้าทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (จากเหตุการณ์ปูยักษ์อาละวาดแล้วหนีลงไปตามน้ำแม่ละว้าไปลงน้ำโขง) รวมถึงการกล่าวถึงการสร้างกำแพงเมืองในสมัยลาวเคียงโดยมีเขตแดนด้านทิศเหนือถึงน้ำแม่ละว้า(น้ำแม่สาย) ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าเงินยางในแนวคิดแรกนี้อาจเป็น “เวียงพางคำ” ส่วนเนื้อหาที่ย้อนแย้ง คือ การกล่าวถึงชื่อเมืองเป็นชื่อเดียวว่า “เงินยางเชียงแสน” และ “เหรัญนครเชียงแสน” ในพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยขุนเจือง แสดงให้เห็นว่า เงินยางกับเชียงแสน คือพื้นที่เดียวกัน รวมถึงเนื้อความที่กล่าวถึงพญามังรายเอาช่างฆ้อง 300 ครัวมาไว้ที่เมืองเชียงแสน แสดงการให้ความสำคัญกับเมืองเชียงแสนมากอย่างมีนัยยะ (ตอนหนึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงการที่พญามังรายให้รื้อองค์ประกอบวิหารจากเมืองเชียงแสนมาประกอบสร้างใหม่ที่เวียงกุมกาม ซึ่งถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นวิหารจากเมืองอื่น นั่นก็อาจเพราะเมืองเชียงแสนเป็นเมืองต้นวงศ์ ที่วงศ์ลวจังกราชของพญามังรายอยู่สืบเนื่องมายาวนานจนถึงสมัยพญามังรายก่อนย้ายไปยังเชียงใหม่)
. ถ้าสรุปจากเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งสามฉบับ คือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานสิงหนวติ และพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ก็ต้องกล่าวว่า การที่เมืองเงินยางจะเป็น เวียงพางคำ หรือ เมืองเชียงแสน นั้นยังไม่เป็นที่สรุปได้ (ถ้าเป็นการแข่งกีฬาก็ต้องบอกว่าผลเสมอกัน)
แต่ทั้งนี้มีข้อมูลทางโบราณคดีที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากนำมาบอกเล่าเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ นั่นคือข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงแสนในปี 2543 และ 2552-2557 ที่กรมศิลปากรได้ขุดตัดผ่ากำแพงเมืองเชียงแสนเพื่อตรวจสอบชั้นดินทับถมของคันกำแพงเมือง จากการขุดทางโบราณคดีพบว่า กำแพงเมืองเชียงแสนที่เราเห็น แท้จริงมีกำแพงเมืองสมัยแรกอยู่ด้านใน จากการส่งตัวอย่างอิฐและดินหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ปี 2543 ดำเนินการโดยคุณศิริพงษ์ สมวรรณ นักศึกษาภาคฟิสิกส์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปี 2557 โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค่าอายุกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยแรกราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 (พ.ศ.900-1200) และกำแพงเมืองสมัยที่สองที่ครอบทับอยู่มีช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 (พ.ศ.1800-2000) ค่าอายุดังกล่าวมีนัยยะอย่างไร
. หากเชื่อว่าปีพุทธศักราชในเอกสารประวัติศาสตร์อาจพอมีเค้าความจริง การสถาปนาเมืองเงินยางในปี 1181 และการที่พญาแสนภูฟื้นเมืองเชียงแสนอีกครั้ง (“แสนภูสร้างเมืองทับเวียงรอยเดิม”) ก็สอดคล้องกับค่าอายุกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยแรก และการสร้างเมืองครอบทับเมืองรอยเดิมในปี 1871 ก็สอดคล้องกับค่าอายุกำแพงเมืองสมัยที่สองที่ครอบทับอยู่
เมื่อดูข้อมูลดังนี้ ก็ต้องบอกว่า การที่เมืองเงินยาง คือ เมืองเชียงแสน มีความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะหลักฐานการมีขึ้นของกำแพงเมืองสมัยแรกค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงเวลาการเกิดขึ้นของเมืองเงินยางในต้นพุทธศตวรรษที่ 12 รวมถึงการที่แสนภูเสริมสร้างกำแพงเมืองทับกำแพงเดิมที่มีอยู่ ก็น่าจะเป็นการที่พญาแสนภูกลับมารื้อฟื้นเมืองที่เป็นต้นวงศ์ (หากไม่คิดว่าเนื้อความในตำนานสิงหนวติที่กล่าวถึงพญาแสนภูฟื้นเมืองเงินยางเชียงแสนเป็นความจริง การวิเคราะห์ตามเหตุและผลว่าเหตุใดจึงต้องฟื้นเมืองเชียงแสน ก็พอเห็นเค้าลางของความสำคัญของเมืองนี้ในอดีต)
. ทั้งนี้สิ่งที่นำมาบอกเล่าแก่ทุกท่านครั้งนี้ก็ยังมิได้ถือเป็นข้อยุติว่า เงินยาง คือเมืองใด ระหว่างเชียงแสนและเวียงพางคำ (แม้ตอนนี้จะเริ่มพอเห็นเค้าความเป็นไปได้ที่เมืองเชียงแสน) เพราะต้องไม่ลืมว่า เรายังไม่มีการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีคันกำแพงเมือง ชั้นดินทับถมและโบราณวัตถุภายในเมืองเวียงพางคำมาก่อน ดังนั้นเราจึงยังไม่มีชุดข้อมูลของเวียงพางคำ การที่จะสรุปว่า เมืองเงินยาง คือ เมืองเชียงแสน จึงอาจยังเร็วเกินไป ในอนาคตการศึกษาทางโบราณคดีเวียงพางคำ เป็นหนึ่งในแผนงานศึกษาที่สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ วางไว้เพื่อค่อยๆประกอบภาพของพัฒนาการบ้านเมืองยุคแรกในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน อันเป็นรากฐานและที่มาของอาณาจักรล้านนา
...และหากวันนั้นมาถึง ผมคงได้นำเรื่องราวและข้อมูลมาบอกเล่าทุกท่านอีกครั้ง
เรื่อง : ตามหาเมืองเงินยาง ตอน 3
เรียบเรียงโดย : นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี
. จากตามหาเมืองเงินยางในตอน 1 และ 2 จะพบว่าตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวัติในพงศาวดารภาคที่ 61 ชี้ถึงที่ตั้งเมืองเงินยางต่างกัน โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ชี้ว่าเงินยางน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณไม่ไกลจากดอยตุง ซึ่งเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ เวียงพางคำ บริเวณตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนตำนานสิงหนวติ ในพงศาวดารภาคที่ 61 ชี้ถึงที่ตั้งเมืองเงินยางว่าน่าจะเป็นเมืองเชียงแสน ในตัวอำเภอ เชียงแสน คราวนี้มาดูเอกสารอีกฉบับที่กล่าวถึงเมืองเงินยาง คือ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน
. พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวถึงเมืองเงินยาง ดังนี้
1. ชื่อพงศาวดารเขียนชัดเจนว่าเป็น เงินยาง-เชียงแสน (มีคำว่า “เชียงแสน” ต่อท้าย) / ประเด็นชื่อเมืองมีความเหมือนกันกับตำนานสิงหนวัติที่ชื่อเมืองมีคำว่า เชียงแสน กำกับตั้งแต่ต้น)
2. ลวจังกราช โอปาติกกะลงมา โดยมีบันไดพาดลงมาจากสวรรค์ ลงมาที่หินเลาและหินกอง (ถ้าดูจากคำที่แสดงภูมิสัญฐานพื้นที่ จะเห็นว่า มีก้อนหินหรือภูเขาหิน ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตว่า แนวเขาดอยตุงต่อเนื่องไปทางทิศเหนือคือดอยนางนอน เป็นเทือกเขาหินปูน ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่สาย ในเขต อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) / ประเด็นที่ตั้งเมืองมีความเหมือนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่เมืองน่าจะอยู่บริเวณไม่ไกลจากดอยตุง
3. พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวแตกต่างจาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวติเล็กน้อย โดยกล่าวว่า ลวจังกราชลงบันไดเงินมาประทับอยู่ใต้ต้นพุดซา แต่พื้นเมืองเชียงใหม่และสิงหนวติ กล่าวว่ามาอยู่ใต้ต้นไม้ตัน ซึ่งความในตอนนี้มีความหมายตรงกันคือต้นพุดทรา หรือที่ล้านนาเรียกว่า “มะตัน” แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกใช้คำในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ที่น่าจะมีนัยยะของการเลือกใช้คำพ้องเสียงที่ต้องการให้สัมพันธ์กับการพุทธศาสนา จึงอาจเลือกคำว่า พุด (พุทธ) – ซา หรืออาจแสดงนัยยะของคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง (ที่อาจแสดงให้เห็นว่าพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนเรียบเรียงขึ้นในสมัยหลังที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคกลางมากขึ้นแล้ว)
4. พื้นที่ที่ลวจังกราชโอปาติกกะลงมาชื่อว่า “เชียงสา” ต่างจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิงหนวัติกุมาร ที่เรียกว่า “เชียงราว หรือ เชียงลาว” แต่สอดคล้องที่ว่า ในรัชกาลนี้มีการเรียกชื่อเมืองว่า “เงินยาง” ต่อมา
5. มีการกล่าวถึงเมืองเงินยางในอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรัญนคร” โดยกล่าวว่า ลวะจังกราช เสวยเมืองเหรัญนครและไปนมัสการดอยตุงทุกปี และให้พวกทำมีละ(ลัวะ) เป็นผู้รักษาเจดีย์ (ความในตอนนี้ทำให้นึกย้อนถึง คราวที่ตำนานสิงหนวัติกล่าวถึงปู่เจ้าลาวจกถวายตัวเป็นข้าเฝ้าพระธาตุบนดอยตุงจนเมื่อตายจึงไปจุติเป็นเทวดาบนสวรรค์ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า ลาวจกอาจเป็น ทำมีละ หรือ ลัวะ)
6. จากเนื้อหาจะเห็นว่า ลวะจังกราช โอปาติกกะลงมาในพื้นที่บ้านเมืองของชาวยวน โดยต่อมาอีก 6 ปี ชาวยวนได้ยกให้ลวะจังกราชเป็นใหญ่
7. เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ปูยักษ์กัดกินข้าวและทำร้ายชาวเมือง โดยปูได้หนีลงแม่น้ำละว้า (ชื่อแม่น้ำมีนัยยะบอกถึงกลุ่มคนในพื้นที่) และล่องไปถึงแม่น้ำของ(น้ำโขง) ความตอนนี้แสดงให้ว่า พื้นที่เมืองเงินยางของลวะจังกราชน่าจะอยู่ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (เมื่อพิจารณาย้อนทวนทิศทางจากแม่น้ำโขงที่อยู่ทางทิศตะวันออก ไปหาน้ำแม่สายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ตำแหน่งของเมืองเงินยางจากความในตอนนี้จึงน่าจะเป็นเวียงพางคำ ไม่ใช่เชียงแสน
8. มาจนกระทั่ง 10 รัชกาล ถึงยุค ลาวเคียง จึงมีการสร้างกำแพงเมือง โดยมีเขตแดนด้านทิศเหนือถึงน้ำแม่ละว้า ทิศตะวันออกเอาแม่น้ำเป็นแดน โดยให้ราษฏรทำพื้นที่ให้ราบเสมอดีทุกแห่ง ถ้าพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่า พื้นที่ตั้งแต่ตัวอำเภอแม่สาย ต่อเนื่องมาทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นบริเวณกว้างเป็นที่ราบผืนใหญ่ ถ้าพิจารณาตามนี้พอทำให้คิดได้ว่า เงินยาง ที่ลาวเคียงสร้างอาจเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในแอ่งแม่สายนี้ โดยเมืองที่เข้าข่าย คือ “เวียงพางคำ”
9. ในตอนที่ลาวเคียงสร้างเมือง มีการขุดฝังเสาอินทขีล จึงพอเห็นเค้าลางว่าวงศ์ลวะจังกราช มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีเชื้อสายลัวะ
10. มีความเปลี่ยนแปลงชื่อนำหน้ากษัตริย์ โดยใช้คำว่า “ขุน” (ขุนเงิน) จึงเป็นข้อคำถามว่า ธรรมเนียมการใช้คำว่าขุนนำหน้ากษัตริย์เกิดขึ้นมาด้วยเหตุใด (คำนำหน้าที่ถูกเปลี่ยนไปแต่ละห้วงเวลาน่าจะมีนัยยะของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่าง อย่างเช่น มังราย ไม่ใช้คำว่า ลาว นำหน้าเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นนัยยะนี้)
11. มาปรากฏคำเรียกว่า “เมืองเงินยางเชียงแสน” ครั้งแรกในสมัยขุนเจือง เนื้อความกล่าวถึงทัพแกวยกทัพมาต่อสู้กับเมืองเงินยางเชียงแสน (ถ้าถือตามเนื้อหานี้ ชื่อ “เงินยางเชียงแสน” ปรากฏขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17) และบ่งชี้ว่า “เงินยาง” และ “เชียงแสน” คือเมืองเดียวกันจากชื่อ
12. ตำนานแสดงให้เห็นว่าพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เมืองใหญ่แยกเป็น 2 สาย คือ เมืองเงินยางและ ภูกามยาว โดยบทบาทสำคัญน่าจะเป็นภูกามยาวเพราะขุนเจืองปกครอง (แต่ต่อมาขุนเจืองปกครองควบ 2 เมือง)
13. ขุนเจืองตายในปี 1705 โดยสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิในเมืองเหรัญนครเชียงแสน (เห็นได้ว่าในสมัยขุนเจือง เมืองเงินยางถูกเรียกทั้งในชื่อ เงินยางเชียงแสน และ เหรัญนครเชียงแสน)
14. พอถึงรัชกาลขุนแพง (หลานขุนเจือง) ไม่มีการสืบวงศ์กษัตริย์ต่อ (จะเห็นได้ว่ายังคงใช้ “ขุน” นำหน้านามกษัตริย์) เลยไปเอาเชื้อสายเมืองพะเยามาครอง
15. พญามังรายเอาช่างฆ้อง 300 ครัวมาไว้ที่เมืองเชียงแสน (แสดงให้เห็นว่าเชียงแสนน่าจะเป็นเมืองสำคัญและอาจเป็นเมืองต้นวงศ์ของพญามังราย / นั่นคือ เชียงแสนคือเมืองเงินยางที่สืบมา)
. ถ้าดูจากเนื้อหาที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนจะเห็นว่ามีความปะปนกันระหว่างเนื้อหาที่ชี้ว่าเมืองเงินยางคือบริเวณใกล้ดอยตุง-น้ำแม่สาย จากการที่ระบุเชิงเปรียบเทียบทิศทางของเมืองเงินยางว่าอยู่ใกล้น้ำแม่ละว้าทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (จากเหตุการณ์ปูยักษ์อาละวาดแล้วหนีลงไปตามน้ำแม่ละว้าไปลงน้ำโขง) รวมถึงการกล่าวถึงการสร้างกำแพงเมืองในสมัยลาวเคียงโดยมีเขตแดนด้านทิศเหนือถึงน้ำแม่ละว้า(น้ำแม่สาย) ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าเงินยางในแนวคิดแรกนี้อาจเป็น “เวียงพางคำ” ส่วนเนื้อหาที่ย้อนแย้ง คือ การกล่าวถึงชื่อเมืองเป็นชื่อเดียวว่า “เงินยางเชียงแสน” และ “เหรัญนครเชียงแสน” ในพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยขุนเจือง แสดงให้เห็นว่า เงินยางกับเชียงแสน คือพื้นที่เดียวกัน รวมถึงเนื้อความที่กล่าวถึงพญามังรายเอาช่างฆ้อง 300 ครัวมาไว้ที่เมืองเชียงแสน แสดงการให้ความสำคัญกับเมืองเชียงแสนมากอย่างมีนัยยะ (ตอนหนึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงการที่พญามังรายให้รื้อองค์ประกอบวิหารจากเมืองเชียงแสนมาประกอบสร้างใหม่ที่เวียงกุมกาม ซึ่งถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นวิหารจากเมืองอื่น นั่นก็อาจเพราะเมืองเชียงแสนเป็นเมืองต้นวงศ์ ที่วงศ์ลวจังกราชของพญามังรายอยู่สืบเนื่องมายาวนานจนถึงสมัยพญามังรายก่อนย้ายไปยังเชียงใหม่)
. ถ้าสรุปจากเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งสามฉบับ คือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานสิงหนวติ และพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ก็ต้องกล่าวว่า การที่เมืองเงินยางจะเป็น เวียงพางคำ หรือ เมืองเชียงแสน นั้นยังไม่เป็นที่สรุปได้ (ถ้าเป็นการแข่งกีฬาก็ต้องบอกว่าผลเสมอกัน)
แต่ทั้งนี้มีข้อมูลทางโบราณคดีที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากนำมาบอกเล่าเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ นั่นคือข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงแสนในปี 2543 และ 2552-2557 ที่กรมศิลปากรได้ขุดตัดผ่ากำแพงเมืองเชียงแสนเพื่อตรวจสอบชั้นดินทับถมของคันกำแพงเมือง จากการขุดทางโบราณคดีพบว่า กำแพงเมืองเชียงแสนที่เราเห็น แท้จริงมีกำแพงเมืองสมัยแรกอยู่ด้านใน จากการส่งตัวอย่างอิฐและดินหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ปี 2543 ดำเนินการโดยคุณศิริพงษ์ สมวรรณ นักศึกษาภาคฟิสิกส์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปี 2557 โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค่าอายุกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยแรกราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 (พ.ศ.900-1200) และกำแพงเมืองสมัยที่สองที่ครอบทับอยู่มีช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 (พ.ศ.1800-2000) ค่าอายุดังกล่าวมีนัยยะอย่างไร
. หากเชื่อว่าปีพุทธศักราชในเอกสารประวัติศาสตร์อาจพอมีเค้าความจริง การสถาปนาเมืองเงินยางในปี 1181 และการที่พญาแสนภูฟื้นเมืองเชียงแสนอีกครั้ง (“แสนภูสร้างเมืองทับเวียงรอยเดิม”) ก็สอดคล้องกับค่าอายุกำแพงเมืองเชียงแสนสมัยแรก และการสร้างเมืองครอบทับเมืองรอยเดิมในปี 1871 ก็สอดคล้องกับค่าอายุกำแพงเมืองสมัยที่สองที่ครอบทับอยู่
เมื่อดูข้อมูลดังนี้ ก็ต้องบอกว่า การที่เมืองเงินยาง คือ เมืองเชียงแสน มีความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะหลักฐานการมีขึ้นของกำแพงเมืองสมัยแรกค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงเวลาการเกิดขึ้นของเมืองเงินยางในต้นพุทธศตวรรษที่ 12 รวมถึงการที่แสนภูเสริมสร้างกำแพงเมืองทับกำแพงเดิมที่มีอยู่ ก็น่าจะเป็นการที่พญาแสนภูกลับมารื้อฟื้นเมืองที่เป็นต้นวงศ์ (หากไม่คิดว่าเนื้อความในตำนานสิงหนวติที่กล่าวถึงพญาแสนภูฟื้นเมืองเงินยางเชียงแสนเป็นความจริง การวิเคราะห์ตามเหตุและผลว่าเหตุใดจึงต้องฟื้นเมืองเชียงแสน ก็พอเห็นเค้าลางของความสำคัญของเมืองนี้ในอดีต)
. ทั้งนี้สิ่งที่นำมาบอกเล่าแก่ทุกท่านครั้งนี้ก็ยังมิได้ถือเป็นข้อยุติว่า เงินยาง คือเมืองใด ระหว่างเชียงแสนและเวียงพางคำ (แม้ตอนนี้จะเริ่มพอเห็นเค้าความเป็นไปได้ที่เมืองเชียงแสน) เพราะต้องไม่ลืมว่า เรายังไม่มีการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีคันกำแพงเมือง ชั้นดินทับถมและโบราณวัตถุภายในเมืองเวียงพางคำมาก่อน ดังนั้นเราจึงยังไม่มีชุดข้อมูลของเวียงพางคำ การที่จะสรุปว่า เมืองเงินยาง คือ เมืองเชียงแสน จึงอาจยังเร็วเกินไป ในอนาคตการศึกษาทางโบราณคดีเวียงพางคำ เป็นหนึ่งในแผนงานศึกษาที่สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ วางไว้เพื่อค่อยๆประกอบภาพของพัฒนาการบ้านเมืองยุคแรกในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน อันเป็นรากฐานและที่มาของอาณาจักรล้านนา
...และหากวันนั้นมาถึง ผมคงได้นำเรื่องราวและข้อมูลมาบอกเล่าทุกท่านอีกครั้ง
(จำนวนผู้เข้าชม 8048 ครั้ง)