...

ผู้คนในกำแพงเพชร
ผู้คนในกำแพงเพชร
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระองค์ทรงถ่ายรูปบุคคล วัดวาอาราม โบราณสถาน และสถานที่ต่างๆ ของเมืองกำแพงเพชร แล้วทรงมีพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องเสด็จประพาสต้น ในตอนนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จึงนำเสนอเรื่องราวของผู้คนในกำแพงเพชรบางส่วน ซึ่งได้เรียบเรียงข้อมูลและคัดลอกข้อความมาจากพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕
คนผมแดง
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรคนผมแดงที่เมืองขาณุวรลักษบุรี โดยทรงบรรยายในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้น ความว่า “...อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงมานี้ข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทย ประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มีแต่กระเส็นกระสาย...”
คนงามเมืองกำแพงเพชร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนมักหาคนงามในเมืองนั้นถ่ายรูป ผู้ใดได้รับเลือกทรงถ่ายรูป ต่อมามักมีผู้พอใจขอสู่ด้วยเหตุนั้น คนงามเมืองกำแพงเพชรที่ได้รับคัดเลือกให้ทรงถ่ายรูปนั้น  ได้แก่ หวีด ลูกหลวงพิพิธอภัย อายุ ๑๖ ปี ประคอง ลูกหลวงพิพิธอภัย อายุ ๑๗ ปี ริ้ว ลูกพระพล อายุ ๑๗ ปี และพิง ลูกพระยารามณรงค์ อายุ ๑๖ ปี 
พะโป้ พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยง
พะโป้เป็นชาวกะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษ ภรรยาเป็นคนไทยชื่ออำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ประกอบกิจการค้าไม้แถวคลองสวนหมาก เป็นพ่อค้าไม้คนสำคัญของเมืองกำแพงเพชร พะโป้มีพี่ชายนามว่า แซงพอ หรือพญาตะก่า เป็นผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนครชุม พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ การปฏิสังขรณ์ก็ชะงัก พะโป้จึงได้ปฏิสังขรณ์ต่อจนสำเร็จระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๔๘ 
คนในตระกูลเมืองกำแพงเพชร
ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงถ่ายรูปคนในตระกูลเมืองกำแพงเพชร ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นมีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “...แล้วถ่ายรูปพวกตระกูลเมืองกำแพงที่มาหา ตั้งต้นคือท่านผู้หญิงทรัพย์ภรรยาพระยากำแพง (เกิด) อายุ ๙๓ ปีจอ เห็นจะเป็นปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ยังสบายแจ่มใส พูดจาไม่หลง เดินได้เป็นต้น กับลูกที่มา ๒ คน คือ ชื่อผึ้งเป็นภรรยาพระพล (เหลี่ยม) อายุ ๗๓ ปี ลูกคนสุดท้องชื่อ ภู่ เคยไปทำราชการในวังครั้งรัชกาลที่ ๔ แล้วมาเป็นภรรยาพระยารามรณรงค์ (หรุ่น) อายุ ๖๔ ปี หลานหญิงชื่อ หลาบ เป็นภรรยาหลวงแพ่ง อายุ ๖๔ ปี หลานหญิงชื่อ เพื่อน เป็นภรรยาพระพล อายุ ๔๖ ปี หลานหญิงชื่อพัน ภรรยาหลวงพิพิธอภัย อายุ ๔๔ ปี หลานชายหลวงพิพิธอภัย อายุ ๔๔ ปี เหลนที่มา ๖ คน คือ กระจ่าง ภรรยานายชิต อายุ ๒๔ ปี เปล่ง ภรรยานายคลอง อายุ ๒๑ ปี ริ้ว บุตรีพระพล อายุ ๑๗ ประคองอายุ ๑๗ หวีดอายุ ๑๖ บุตรหลวงพิพิธอภัย ละออง บุตรีนายจีนอายุ ๑๒ ปี โหลนได้ตัวมา ๒ คน แต่ถ่ายคนเดียว แต่ที่ชื่อละเอียดบุตรีโน้มอายุ ๑๓ ปี ได้ถ่ายรวมกันเป็น ๕ ชั่วคน ที่ถ่ายนี้กันออกเสียบ้าง ด้วยมาไม่ครบหมดด้วยกัน ลูก หลาน เหลน โหลน ซึ่งสืบมาแต่ท่านผู้หญิงทรัพย์ ซึ่งมีชีวิตด้วยกันเดี๋ยวนี้ ๑๑๑ คน”
บรรณานุกรม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.























(จำนวนผู้เข้าชม 1373 ครั้ง)