...

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ชื่อวัตถุ  ธรรมจักร

ศิลปะ  ทวารวดี พุทธศตวรรษที่  ๑๓ – ๑๔

ขนาด  เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๐ ซ.ม.

วัสดุ  หินทราย

ขุดค้นพบที่  แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี  จังหวัดสิงห์บุรี

สถานที่เก็บรักษา ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

ประติมากรรมรูปวงล้อ มี ๑๒ ซี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้า โดยทรงแสดงธรรมเทศนาให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน     เปรียบเหมือนวงล้อราชรถของพระมหาราชาที่ขับเคลื่อนไปในทุกๆที่ เช่นเดียวกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกเผยแพร่ดุจวงล้อธรรมที่เคลื่อนไป พระธรรมเทศนาในครั้งนี้จึงถูกเรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ชื่อวัตถุ  พระพุทธรูปยืนปางประทานธรรม (ปางวิตรรกมุทรา)

ศิลปะ  ทวารวดี พุทธศตวรรษที่  ๑๓ – ๑๔

ขนาด สูงรวมฐาน ๘๐ ซ.ม.กว้าง ๑๙ ซ.ม.

วัสดุ  หินเขียว

ขุดค้นพบที่  แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน  อำเภออินทร์บุรี  จังหวัดสิงห์บุรี

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

เป็นประติมากรรมที่ยังทำไม่แล้วเสร็จ ที่เห็นชัดกว่าส่วนอื่น คือ  พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลืบมองต่ำ ครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์สองข้างสลักติดกับพระวรกายชิดกัน พระหัตถ์ยกขึ้นสูงเสมอพระอุระ ถึงแม้จะยังสลักไม่เสร็จ แต่ก็เห็นร่องรอยว่ากระทำปางประทานธรรม  พระเศียรและพระอุษณีษะยังมีลักษณะเป็นโกลน

ชื่อวัตถุ  พระศรีอริยเมตไตรย

ศิลปะ  รัตนโกสินทร์

ขนาด ตักกว้าง ๖๗.๕ ซ.ม. สูง ๗๔ ซ.ม. สูงพร้อมฐาน ๘๙ ซ.ม.

วัสดุ  ทองเหลือง

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงอัฐบริขาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

          ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์แสดงธรรม ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ขวาวางคว่ำเหนือพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลาถือด้ามตาลปัตรแบบแว่นแก้วบังพระพักตร์ พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ กลางตาลปัตรเป็นช่องโปร่ง มีคติเรื่องราวที่มาการสร้างตามพระไตรปิฎก คัมภีร์ และวรรณกรรมทางศาสนาที่ว่าพระศรีอริยเมตไตรยเป็นพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีคอยช่วยเหลือสัตว์โลก บรรลุถึงพุทธภูมิอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตรอเวลาที่จะเสด็จมาอุบัติขึ้นในโลกตรัสรู้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในอนาคต



ชื่อวัตถุ  เทวรูปฟ้อนรำ (ส่วนยอดของเสาธง)

ศิลปะ  ลพบุรี

ขนาด สูง ๑๒.๘ ซ.ม.

วัสดุ  สำริด

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงอัฐบริขาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ชื่อวัตถุ             พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน

ศิลปะ               รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕

ขนาด               กว้าง ๘.๗ ซ.ม. ยาว๒๐ ซ.ม. สูงพร้อมฐาน ๑๙.๕ ซ.ม.

วัสดุ                 ทองเหลือง

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงอัฐบริขาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

          ประติมากรรมรูปหีบศพ ตั้งบนฐานสูงมีพระพุทธบาทยื่นออกมาออกมาจากหีบพระศพ   

มักประกอบไปด้วยรูปภิกษุสาวก แสดงการสักการบูชาหรืออยู่ในอากัปกิริยาต่างๆกัน ๓ – ๔ รูป

มีคติเรื่องราวที่มาการสร้างตาม มหาปรินิพพานสูตรในคัมภีร์ทีฆนิกายมหาวรรค เมื่อครั้งที่พระมหากัสสปเถระ ได้ทำการสักการะบูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ตั้งอธิษฐานขอให้พระบาททั้งสองของพระบรมศาสดาเคลื่อนจากหีบรองรับหัตถ์ทั้งสอง พระบาททั้งสองออกมาปรากฏอยู่ภายนอกเมื่อพระมหาเถระถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าพร้อมทั้งภิกษุบริวารและมหาชนได้ถวายนมัสการพระบาทยุคลทั้งสิ้นแล้ว พระบาททั้งสองก็กลับคืนเข้าสู่หีบพระศพดังเดิมเป็นอัศจรรย์



ชื่อวัตถุ  พัดรอง  (งานพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัฎ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระอรรคชายา รวม ๘ พระองค์)

ศิลปะ  รัตโกสินทร์   

ขนาดกว้าง ๔๐.๓ ซ.ม.  ยาว ๔๗.๒  ซ.ม. ด้ามยาว ๕๒.๖ ซ.ม.

วัสดุ  ผ้า ด้ามไม้

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงอัฐบริขาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

เป็นพัดหน้านาง ทำด้วยผ้ากำมยี่สีแดง ตรงกลางปักดิ้นทองและไหมสี รูปพระเกี้ยว ๘ องค์ ล้อมด้วยดาว ด้านล่างปักอักษร ๑๒๕๐ บนริบบิ้น ด้านหลังเป็นผ้าสีชมพู ปักอักษรพระนามทั้ง ๘ องค์ นมพัดรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ งาแกะสลักด้ามไม้ประดับมุก สันงากลึง

เป็นงานปักของงานที่ระลึกเฉลิมพระสุพรรณบัฎเจ้านาย ๘ พระองค์ ซึ่งใส่อยู่ในกรอบรูป เข้าใจว่าเป็นงานต้นแบบที่ส่งมาถวายรัชกาลที่ ๕ เพื่อทอดพระเนตรก่อนการสั่งทำ

พัดรองงานเฉลิมพระสุพรรณบัฎพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอและพระอรรคชายาเธอรวม ๘ พระองค์ เมื่อ จ.ศ.๑๒๕๐ (พ.ศ. ๒๔๓๑) คือ

                  ๑. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร

                   ๒. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร

                   ๓. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล

                   ๔. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี

                   ๕. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนนภาดารา

                   ๖. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล

                   ๗. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค

                   ๘. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวีลภิรมย์



ชื่อวัตถุ  พัดรอง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลปะ  รัตโกสินทร์   

ขนาดกว้าง ๓๖.๕ ซ.ม.  ยาว ๔๑ ซ.ม. ด้ามยาว ๕๒ ซ.ม.

วัสดุ  ผ้า ด้ามไม้สันทองเหลือง

สถานที่เก็บรักษาห้องจัดแสดงอัฐบริขาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี

ลักษณะ

เป็นพัดหน้านาง ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ ตรงกลางปักไหมรูปช้างไอราพต (ช้าง ๓ เศียร) ทูนวชิรปราสาท ขนาบด้วยเทวดา เชิญอภิรุมชุมสาย ช้างไอราพตนั้นยืนบนแท่นเหนือปุยเมฆ นมพัดเป็นสีเหลือง รูปกลมขอบหยักประดับมุกและแกะข้อความว่า “งานบรมราชาภิเษกสมโภช ร.ศ.๑๓๐” ด้ามไม้ประดับมุก สันทองเหลือง

(พัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ.๑๓๐) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ได้ทรงประกอบงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอย่างสมพระเกียรติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔)








(จำนวนผู้เข้าชม 3483 ครั้ง)