...

วัดลัฏฐิกวัน
วัดลัฏฐิกวัน ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่ริมถนนสายมุกดาหาร-หว้านใหญ่ ด้านทิศเหนือติดกับลำห้วยชะโนด ตามประวัติระบุว่า พระครูบุ นันทวโร เป็นผู้สร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เดิมเป็นวัดป่า ได้มีการปลูกต้นตาลไว้รอบ ๆ วัดจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “ลัฏฐิกวัน” ซึ่งแปลว่า “สวนตาลหนุ่ม” และยังมีนัยยะถึงสวนตาลที่พระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธเจ้าอีกด้วย ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ยังเรียกวัดนี้ว่า “วัดป่าตาล” ตามสภาพแวดล้อมที่มีต้นตาลจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ได้แก่ อุโบสถ (สิม) หลังเก่า, ศาลาพระพุทธบาทเก่า, ศาลารูปปั้นพิธีศพ
. อุโบสถ (สิม) หลังเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ขนาด ๓ ช่วงเสา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นรูปแบบสิมโปร่ง มีการก่อผนังปิดทึบด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านหลังพระประธาน ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยเป็นประธาน และมีพระสาวก (ปัญจวัคคีย์) ทั้ง ๕ นั่งรายล้อมอยู่ ผนังด้านหลังมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างพื้นถิ่น ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วทำปีกยื่นโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน มุงสังกะสี ซึ่งเดิมน่าจะเป็นกระเบื้องดินเผา
. ศาลาพระพุทธบาทเก่า เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กั้นผนังด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียวประดับลายปูนปั้น ส่วนเสาศาลาทาสีประดับลวดลายปูนปั้น ส่วนหลังคาทรงปั้นหยาประดับยอดแหลมมุงกระเบื้องดินเผา รอยพระพุทธบาทประกอบด้วยลวดลายมงคล ๑๐๘ ตั้งอยู่บนชุดฐานบัว ก่ออิฐถือปูน
. ศาลารูปปั้นปรินิพพาน สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงสังกะสี ภายในทำเป็นพระพุทธรูปนอนตะแคงขวา ด้านนอกทำรูปเหล่ากษัตริย์แคว้นต่าง ๆ นั่งในท่วงท่าอาการโศกเศร้า
. ศาลารูปปั้นพิธีศพ เป็นอาคารโถงทรงจตุรมุข ก่ออิฐถือปูน มุงกระเบื้องดินเผา ภายในทำหุ่นจำลองตอนถวายพระเพลิงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระสาวกและพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีโดยรอบ อีกทั้งยังมีวงมโหรีประกอบในงานด้วย ปรากฏศักราชที่หน้าบันด้านทิศตะวันออก พ.ศ. ๒๔๗๙ สันนิษฐานว่าเป็นปีที่สร้าง
. วัดลัฏฐิกวันได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๔ง วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ ระวางเขตพื้นที่ ก ๑ไร่ ๓ งาน ๑๑.๔๘ ตารางวา เขตพื้นที่ ข ๑ งาน ๗๘.๕๓ ตารางวา
------------------------------------------------------
++++ อ้างอิงจาก ++++
. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔. หน้า ๑๔๗.
. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดมุกดาหาร.เอกสารอัดสำเนา,
๒๕๕๒.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 770 ครั้ง)