...

กู่โพนวิจ

+++++กู่โพนวิจ+++++

----- กู่โพนวิจ ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ห่างจากกู่กาสิงห์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ ง หน้า ๙ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา

----- ชื่อ “กู่โพนวิจ” มาจากการพบหลักฐานส่วนฐานรูปเคารพสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณเนินโบราณสถานจำนวนหลายชิ้น ประกอบกับพบชิ้นส่วนรางน้ำมนต์ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นฐานส้วม จึงเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่า “โพนเว็จ” หรือ “โพนวิจ”

----- กู่โพนวิจ ลักษณะเป็นอาคาร ๕ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร ก่อเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ไม่พบบันไดทางขึ้นสันนิษฐานว่าเดิมอาจใช้บันไดไม้ภายหลังได้ผุพังสลายไป เพราะมีร่องรอยของหลุมเสาบนฐานศิลาแลง ซึ่งน่าจะเป็นหลุมเสาไม้ แนวฐานด้านทิศเหนือหายไปเนื่องจากถูกขุดเอาศิลาแลงไปสร้างวัดประจำหมู่บ้านในสมัยหลัง พื้นบนฐานเป็นทรายอัดแน่นปูด้วยศิลาแลง บนฐานศิลาแลงก่อเป็นฐานอาคารสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๕ ฐาน สันนิษฐานว่าเป็นฐานรองรับอาคารเครื่องไม้ ด้านหน้าทิศตะวันออกของฐานอาคาร มีอาคารสองหลังตั้งอยู่ ลักษณะเป็นอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมก่อผนังทึบทั้ง ๔ ด้าน อาคารด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือถูกรื้อจนเหลือเพียงแนวหินชั้นเดียว ส่วนอาคารทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ ภายในเป็นดินอัดแน่น สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเครื่องไม้ที่มีฐานสูง ใช้เป็นบรรณาลัยประจำศาสนสถาน

----- จากการขุดแต่งโบราณสถานและขุดตรวจชั้นดินทางโบราณคดี ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ทราบว่ากู่โพนวิจสร้างขึ้นบนพื้นที่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และภาชนะบรรจุศพขนาดใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ในภาชนะดินเผา ที่มักพบในแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงมีการสร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูขึ้น โดยพิจารณาจากโบราณวัตถุที่พบ ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะพระนารายณ์และพระศิวะ เนื่องจากพบท่อนพระกรและพระหัตถ์ของพระนารายณ์ในขนาดต่างๆกัน และจากการขุดแต่งยังพบแท่นโยนีมีช่องเดือย เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระศิวะ นอกจากนี้ยังพบทวารบาลรูปมหากาล ซึ่งมักพบในเทวสถานของพระศิวะ

-----------------------------------------------------

อ้างอิง

สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. โบราณสถาน กู่โพนวิจ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด. ม.ป.ท. : ม.ป.ป. (อัดสำเนา)

ข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ

 

ดาวน์โหลดไฟล์: กู่โพนวิจ.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 461 ครั้ง)