...

การจัดการความรู้ :กระบวนการเสริมสร้างเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม
                การจัดการความรู้: กระบวนการเสริมสร้างเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรม ทำการถอดประสบการณ์เป็นบทเรียนจากผู้ปฏิบัติงานเสริมสร้างเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมในแต่ละสำนักศิลปากรพื้นที่จำนวน 10 คน 14 โครงการ ที่ดำเนินงานอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2554 เพื่อเรียบเรียงเป็นองค์ความรู้หนึ่งของกรมศิลปากร ด้วยการตอบแนวคำถามประกอบการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งพบว่า
 
           ผู้ปฏิบัติงานเริ่มต้นโครงการด้วยเห็นความสำคัญและอยากจะอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุหรือแหล่งโบราณคดีในพื้นที่เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนในท้องถิ่นนั้น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด ชาวบ้านและโรงเรียน เป็นต้น อยากจะร่วมอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบของแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แต่ยังขาดความรู้และทิศทางที่ชัดเจน
 
            กิจกรรมสำคัญในโครงการจึงเริ่มด้วยการให้ความรู้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงเป็นการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ กำหนดแนวทางปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกัน การสามารถสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน การร่วมกันปฏิบัติและร่วมรับผลที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่ความเป็นเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมระหว่างกรมศิลปากรและชุมชนท้องถิ่นนั้น
 
         ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น มักจะเห็นได้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และย่านประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก
 
          ความเป็นเครือข่ายระหว่างกันจะดำรงอยู่ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้กรมศิลปากรควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนกลุ่มเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นเพื่อการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นหรือย่านประวัติศาสตร์โบราณคดี และมีการติดตามประเมินผลความเป็นเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 678 ครั้ง)