...

ลวดลายปูนปั้น ประติมากรรมในเวียงกุมกาม
ลวดลายปูนปั้นที่ถูกขุดพบในเวียงกุมกามมักเป็นการพบชิ้นส่วนขนาดเล็ก ลายส่วนใหญ่เป็นลายประดับของเจดีย์ทรงปราสาท มีส่วนน้อยที่ประดับตามอาคารประเภทอื่น ลายปูนปั้นที่ยังคงหลงเหลือประดับตามโบราณสถานต่างๆ ในเวียงกุมกามเหลือเพียงไม่กี่แห่ง ได้แก่ วัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) วัดกู่ขาว วัดปู่เปี้ย วัดหัวหนอง วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดพญามังราย วัดกู่ป้าด้อม ที่ฐานชุกชีวัดหนานช้าง ลวดลายปูนปั้นสามารถจำแนกได้ ดังนี้
       ลายกระหนก 
               เป็นรูปแบบในโครงสามเหลี่ยม ลายกระหนกในล้านนาเริ่มปรากฎหลักฐานโดยเกี่ยวข้องกับศิลปะแบบมอญ เช่นกระหนกที่เจดีย์วัดกู่กุด กระหนกที่เจดีย์วัดป่าสักเชียงแสน กระหนกในเวียงกุมกามน่าจะเป็นกระหนกที่เกิดจากสายพัฒนาการของศิลปะล้านนา รูปแบบที่เก่า ได้แก่ กระหนกประกอบลายดอกไม้ในกรอบช่องกระจกที่ฐานวิหารวัดพระเจ้าองค์ดำ หรือกระหนกปลายกรอบซุ้มจระนำวัดต้นข่อย กระหนกทั้งสองเกิดจากการปั้นปูนเป็นวงโค้งติดกับพื้น จากนั้นใช้นิ้วกดและรีดเนื้อปูนให้ยกขึ้น ต่อหัวขมวดอย่างคร่าวๆ โดยกำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
               ลายกระหนกที่ปลายกรอบซุ้มจระนำวัดปู่เปี้ย หรือกระหนกที่วัดหัวหนอง มีวิธีที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องลงมา คือมีการยกเนื้อปูนสูงขึ้นมาก มีการสะบัดพริ้วที่ปลายมาก คล้ายได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน กระหนกลักษณะนี้สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพราะอาคารหลายแห่งที่สร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีการประดับด้วยกระหนกลักษณะนี้ เช่น การประดับซุ้มโขงที่วัดเจ็ดยอด กระหนกเจดีย์วัดปันสาท เป็นต้น
       ลายกาบและลายประจำยามอก 
               ลายกาบคือลายในทรงสามเหลี่ยมที่ประดับตามมุมเสา กาบที่ประดับด้านบนของเหลี่ยมเสาปลายแหลมของกาบชี้ลง เรียกว่า กาบบน หรือบัวคอเสื้อ กาบที่ประดับโคนเสาปลายแหลมของกาบที่ชี้ลงด้านล่าง เรียกว่า กาบล่าง และหากตรงกลางเสามีลายรัดที่เกิดจากกาบบนและกาบล่างมาผสมกันเรียกว่าประจำยามอก
                ประจำยามที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์วัดกู่อ้ายหลาน น่าจะมีรูปแบบที่เก่าสุดในเวียงกุมกาม จากลักษณะของประจำยามตรงกึ่งกลางของประจำยามเป็นรูปวงกลม ทั้งสี่ด้านเป็นรูปกลีบบัว กลีบบัวมีความนูนหนา และขีดรอบวงโค้งในกลีบ รอบกลีบเป็นหัวขมวดอย่างคร่าวๆ มีความคล้ายคึงกับกลีบบัวที่ประจำยามวัดป่าสักเชียงแสน ประจำยามที่วัดกู่อ้ายหลานน่าจะอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๑
                ประจำยามอกที่ท้องไม้ฐานปัทม์เจดีย์วัดกู่ขาว กรอบของประจำยามเป็นวงโค้งหลายวงต่อเนื่องกัน ภายในมีหลายวงกลมขนาดใหญ่เป็นประธานล้อมรอบด้วยลายเม็ดกลมและตัวเหงา พื้นที่ว่างภายในกรอบประดับด้วยลายกระหนกและลายหงส์แบบจีน 
                ลายกาบที่เจดีย์ทรงปราสาทใกล้ฐานเจดีย์ประธานวัดหนานช้าง เป็นลายกาบที่มีกรอบโค้งหยัก แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ไม่มีรูปทรงที่สมบูรณ์ แต่คาดว่าน่าจะเป็นทรงกลีบบัวโค้งหยัก เช่นลายกลีบบัวที่ประดับโขงวัดชมพู เชียงใหม่ กำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓
       ลายประเภทกรอบคดโค้ง 
               ในเวียงกุมกามพบหลักฐานเหลือเพียงสี่แห่ง คือ ที่ฐานวิหารวัดพระเจ้าองค์ดำ หัวเสาซุ้มจระนำเจดีย์วัดพญามังราย ซุ้มโขงวัดหัวหนอง ฐานชุกชีบนวิหารวัดหนานช้าง ลายกรอบคดโค้งที่วัดพญามังรายและวัดพระเจ้าองค์ดำ มีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับลายดอกไม้ที่ประดับเจดีย์วิหารในวัดเจ็ดยอด ซึ่งกำหนดอายุไว้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
       ลายกลีบบัว 
               ที่เจดีย์วัดกู่อ้ายหลาน ได้พบลายกลีบบัวประดับปากระฆัง ลักษณะเป็นกลีบบัวเกลี้ยง ประกอบด้วยเส้นโค้งสองวงมาบรรจบกัน ภายในกลีบวงโค้ง ที่เกิดจากการขูดเอาเนื้อปูนออกโดยรอบมีหัวขมวดขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากกลีบบัวที่วัดป่าสัก
               กลีบบัวที่ฐานชุกชีวิหารวัดกู่ป้าด้อม มีทั้งกลีบบัวคว่ำ บัวหงาย และกลีบแทรก ซึ่งมีลักษณะเดียวกับกลีบบัวที่ประดับเจดีย์วัดป่าสัก แต่กลีบบัวที่ฐานชุกชีวิหารวัดกู่ป้าด้อมเป็นกลีบบัวเกลี้ยงไม่มีรายละเอียดประกอบ
               กลีบบัวที่ฐานชุกชีวัดกู่ขาว ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ลักษณะเป็นกลีบบัวโค้งเรียบที่เกิดจากการปั้นเส้นปูนมาวางเป็นวงโค้งบรรจบกันเป็นปลายแหลมภายในประดับลายกระหนก
 ที่มาข้อมูล 
: จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, ประวัติศาสตร์แะศิลปกรรมเวียงกุมกาม
: ตะวัน วีระกุล, วัดเวียงกุมกาม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
 ที่มารูปภาพ
: เวียงกุมกาม รายงานการขุดค้นขุดแต่งศึกษาและการบูรณะโบรารณสถาน หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ กองโบราณคดี พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒











(จำนวนผู้เข้าชม 2082 ครั้ง)