...

ระบบชลประทานเมืองสุโขทัย
- ระบบชลประทานเมืองสุโขทัย -
.
เมืองโบราณสุโขทัยตั้งอยู่บริเวณขอบของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน เป็นบริเวณที่ปรากฏภูเขาขนาดย่อมก่อนจะลาดลงเป็นที่ราบสม่ำเสมอทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองโบราณแห่งนี้ปรากฏแนวคูน้ำคันดินขนาด ๑,๖๐๐ × ๑,๘๐๐ เมตร ล้อมรอบ โดยมีเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นระยะทางกว่า ๒๙ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง  จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า เทือกเขาประทักษ์นี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีบทบาทสำคัญในการอุปโภคบริโภคของชุมชนเมืองสุโขทัยในสมัยโบราณ
.
- สรีดภงส์และแหล่งต้นน้ำในอดีต -
.
 ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึง “สรีดภงส์” ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต  แปลว่า  ทำนบ  สรีดภงส์ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างเขากิ่วอ้ายมาและเขาพระบาทใหญ่  ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงคันดินตามระบบชลประทาน รับน้ำจากพื้นที่หลังคารับน้ำบนเทือกเขาประทักษ์  เขาค่าย  เขาเจดีย์งาม ไหลลงมาเป็นลำธารหรือโซกต่างๆ มารวมกันในพื้นที่รับน้ำ ก่อนจะไหลตามคลองเสาหอและเข้าสู่แนวคูน้ำล้อมรอบเมืองสุโขทัย บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้
.
สรีดภงส์ ๒ (ทำนบกั้นน้ำโคกมน) ตั้งอยู่ที่บ้านมนต์คีรี ห่างจากกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศใต้ไปตามแนวคันดินถนนพระร่วง ประมาณ ๗.๖ กิโลเมตร คันดินนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของเขานาย่าและเขากุดยายชี ตรงกลางทำนบเจาะเป็นช่องระบายน้ำเมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป
.
นอกจากคันดินต่าง ๆ แล้ว แนวเทือกเขาประทักษ์ยังปรากฏร่องรอยโซกน้ำตก ได้แก่  โซกเป็ด  และโซกขี้เหล็ก ฯลฯ ลำธารของน้ำตกมีหินกรวดทับถมเป็นชั้นหนาถึง ๑.๐๐-๑.๕๐ เมตร แสดงถึงการทับถมของหินที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาทับถมเป็นเวลานาน  น้ำจากน้ำตกนี้จะไหลไปหาคันดินถนนพระร่วง  แล้วระบายไปทางทิศตะวันออกสู่บริเวณที่ราบแม่น้ำยม
.
- การทดน้ำมาใช้ใน-นอก เมืองเก่าสุโขทัย -
.
 ภายในเมืองสุโขทัยมีสระน้ำประมาณ ๑๗๕ สระ มีทั้งแบบขุดลงไปในดิน  และกรุผนังด้วยอิฐหรือศิลาแลง มีคลองส่งน้ำจากบริเวณเมืองชั้นในทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ส่งน้ำจากตระพังตระกวนเข้ามายังตระพังสอ
.
 คูน้ำและคันดินที่เป็นแนวกำแพงเมืองล้อมรอบเมืองโบราณสุโขทัย นอกจากทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันข้าศึกแล้วยังใช้เป็นคันดินบังคับน้ำมาใช้ภายในเมือง  โดยเป็นน้ำที่ไหลมาจากสรีดภงส์  ผ่านคลองเสาหอเข้าสู่คูเมืองที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีท่อเชื่อมสู่คูเมืองชั้นใน ทั้งนี้มีการขุดพบท่อน้ำดินเผาขนาดต่าง ๆ ใกล้ขอบสระและคูน้ำล้อมรอบวัดอยู่เสมอๆ เช่นที่ วัดพระพายหลวง  วัดมหาธาตุ  วัดเชตุพน เป็นต้น
.
 นอกจากนี้ยังมีทำนบกั้นน้ำอื่นๆ ที่ก่อสร้างไว้เพื่อส่งน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในเมือง ทำนบที่สำคัญได้แก่ ถนนพระร่วง ๑ (สุโขทัย-กำแพงเพชร) ยาวประมาณ ๗๓ กิโลเมตร ถึงเมืองกำแพงเพชร และแนวคันดินถนนพระร่วง ๒ (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย) เริ่มต้นตั้งแต่ประตูศาลหลวงมุ่งขึ้นไปถึงเมืองศรีสัชนาลัย แนวคันดินเหล่านี้นอกจากใช้เป็นถนนแล้ว ยังใช้เป็นแนวบังคับน้ำที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกเพื่อใช้ประโยชน์และผันน้ำไปสู่แม่น้ำยม
.
- การชลประทานในเขตชุมชนวัดพระพายหลวง -
.
 ชุมชนวัดพระพายหลวงเป็นชุมชนแรกเริ่มก่อนการสร้างเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ใกล้กับคลองแม่ลำพัน มีรูปแบบการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม  น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาฮินดู
.
 ศูนย์กลางการปกครองและศาสนาของชุมชนวัดพระพายหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในขณะที่พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่หลักทางเศรษฐกิจของชุมชน มีการสร้างฝายน้ำล้นและอ่างเก็บน้ำขึ้นเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม  จากการสำรวจได้พบร่องน้ำที่ไหลมาจากช่องโซกม่วงกล้วยและเขาสะพานหินทางทิศเหนือ เข้าสู่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชนวัดพระพายหลวง รวมถึงร่องน้ำที่ไหลผ่านช่องเขาสะพานหินกับเขาเจดีย์งามด้วยเช่นกัน  จากระดับความสูงของแหล่งต้นน้ำที่มีความชันค่อนข้างมาก ทำให้น้ำที่ไหลลงมามีความรุนแรงจึงต้องมีการสร้างคันดินเพื่อชะลอความเร็วของน้ำในบริเวณทิศตะวันตกของวัดศรีชุม ในขณะเดียวกันคูแม่โจนที่ล้อมรอบชุมชนก็สามารถป้องกันน้ำที่ไหลล้นมาจากคันดินเข้าท่วมเมืองได้อีกชั้นหนึ่ง ก่อนระบายลงไปสู่คลองแม่ลำพัน พื้นที่บริเวณคลองซอยเหล่านี้ใช้เป็นแหล่งทำมาค้าขายและสัญจรได้ ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรียกบริเวณดังกล่าวนี้ว่า ตลาดปสาน ซึ่งสามารถใช้เป็นทางออกสู่ทางน้ำสายใหญ่ คือ คลองแม่ลำพัน  น้ำที่ล้นจากคลองแม่ลำพันจะเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ (บาราย) ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของวัดพระพายหลวง  เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร  
.
- อ่างเก็บน้ำโบราณเมืองสุโขทัย/ทำนบ ๗ อ. -
.
 ทำนบ ๗ อ. เป็น ๑ ใน ๘ ของทำนบหรือคันดินบังคับน้ำที่สำคัญของเมืองสุโขทัย สร้างขึ้นเพื่อจัดการน้ำ โดยการสร้างคันดินสูงเพื่อชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำโบราณแห่งนี้ให้ชื่อว่า “ทำนบ ๗ อ.”(หมายถึง เป็นทำนบหรือคันดินนอกเมืองสุโขทัย หมายเลข ๗ ด้านตะวันออก) นักวิชาการบางท่านเรียก “บารายเมืองสุโขทัย” ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นทำนบเพื่อกักเก็บน้ำคันดินกว้าง ๒๕-๓๐ เมตร สูง ๒-๔ เมตร มี ๓ ด้าน ด้านทิศเหนือยาว ๑,๔๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาว ๗๕๐ เมตร และด้านทิศใต้ยาว ๑,๐๕๐ เมตร ส่วนคันดินด้านทิศตะวันตกไม่มีเนื่องจากระดับพื้นดินสูงกว่าทั้งสามด้าน
.
 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ทำการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการดำเนินงานระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ โดยสันนิษฐานว่า ทำนบแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระยาเลอไท - พระยางั่วนำถมซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย ช่วงระหว่างพุทธศักราช ๑๘๔๒ – ๑๘๙๐ ต่อมารัชสมัย    พญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) ทรงครองราชย์ระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๐ – ๑๙๑๑ เป็นช่วงที่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีความรุ่งเรือง จึงสร้างศาสนสถานหลายแห่งบริเวณทำนบ ๗ อ. ประกอบด้วย วัดโบสถ์ วัดขโพงผี (วัดขพุงผี) วัดปากท่อเหนือ วัดปากท่อใต้ และวัดตระพังช้าง
.
- การชลประทานในเขตเมืองสุโขทัย -
.
 การสร้างเมืองใหม่ในบริเวณไม่ห่างไกลจากที่ตั้งชุมชนเดิมอาจเกิดจากการขยายตัวของชุมชน  หรือที่ตั้งเมืองเก่าอาจเกิดปัญหาทางธรรมชาติที่อาจเกิดความไม่เหมาะสมในทางใดทางหนึ่ง คนสุโขทัยจึงใช้ประสบการที่พบมาใช้สร้างเมืองสุโขทัยให้สมบูรณ์ มีการจัดการแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำต่างๆ อย่างเป็นระบบ
.
 น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติบนเทือกเขาประทักษ์จะไหลผ่านสรีดภงส์มาตามคลองเสาหอ เข้าสู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย ถูกชักเข้าไปเลี้ยงคูเมืองโดยรอบและกักเก็บไว้ตามตระพังต่างๆ ก่อนไหลไปสมทบกับคลองแม่ลำพันทางทิศตะวันออกของเมือง  และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออก ๑๒ กิโลเมตร  จากการศึกษาระบบชลประทานสมัยสุโขทัย พบหลักฐานระบุถึงการชลประทานแบบเหมืองฝายจากศิลาจารึกหลักที่ ๓ หรือศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. ๑๙๐๐ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีคำว่า “เหมืองแปลงฝายรู้ปรา...” และจารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓ ระบุว่า “อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า...” แสดงให้เห็นว่าในสมัยปู่พระยาร่วง ซึ่งอาจเป็นพระราชวงศ์สุโขทัยได้มีการชลประทานแบบเหมืองฝายขึ้นในเขตเมืองกำแพงเพชรเช่นกัน
.
 การชลประทานเพื่อการเกษตรในสมัยสุโขทัยนั้น เมื่อมีการขยายชุมชนเดิมจากวัดพระพายหลวงมายังชุนชนสุโขทัย ระบบการควบคุมน้ำเดิมของชุมชนวัดพระพายหลวงยังใช้การได้อยู่คือ คันดินบังคับน้ำทางตะวันออกและตะวันตกของวัดพระพายหลวง ทำให้ชุมชนสุโขทัยยังทำเกษตรกรรมได้ในพื้นที่บริเวณทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ของเมือง
.
- น้ำจากสระต่างๆ (ตระพัง) ในเมืองสุโขทัย -
.
 ตระพัง เป็นภาษาเขมร หมายถึง สระน้ำ  เมืองสุโขทัยมีสระน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๘๐ สระ โดยน้ำจากคูเมืองจะไหลเข้าสู่สระต่างๆ ตามบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัย โดยมีตระพังขนาดใหญ่ จำนวน ๔ ตระพัง ได้แก่ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังตระกวน ตระพังสอ จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัยพบท่อระบายน้ำบริเวณวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือ เป็นท่อดินเผาเคลือบ ปลายท่อด้านหนึ่งสอบเข้า และพบอีกแห่งหนึ่งที่มุมกำแพงวัดมหาธาตุด้านใต้ พบท่อที่ขนาดเท่ากันตลอด ส่วนหัวและปลายสวมต่อกันได้ ส่วนสระน้ำเล็กๆ จะไม่มีท่อระบายน้ำส่งถึงกัน อาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี จำเป็นต้องมีการขุดน้ำบาดาลมาใช้อีกส่วนหนึ่งด้วย
.
- บ่อน้ำ หรือ ตระพังโพย -
.
 คำว่า ตระพังโพย เป็นภาษาเขมร แปลว่า บ่อมหัศจรรย์ คงหมายถึงบ่อน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี
.
 น้ำจากแหล่งน้ำบาดาลเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคในเมืองสุโขทัยโดยต้องเจาะลงไปที่ความลึกมากกว่า ๕ เมตร จากการสำรวจและปรับปรุงบ่อน้ำ พบบ่อน้ำซึมใต้ดินที่มีลักษณะเป็นบ่อกลมกรุด้วยศิลาแลง หิน และมีอิฐก่อเสริมถึงปากบ่อ กระจายตัวอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของเมืองสุโขทัย ปริมาณของบ่อน้ำน่าจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ โดยในบริเวณทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของเมือง พบความหนาแน่นของบ่อน้ำมากกว่าในบริเวณอื่น โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกของวัดตระพังเงิน สำหรับในด้านตะวันออกและทิศใต้ซึ่งพบจำนวนบ่อน้ำไม่มากนั้น  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
.
- สรุปการจัดการน้ำเมืองสุโขทัย -
.
 เมืองโบราณสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา  มีแนวเขาเป็นฉากบังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ มีการสร้างคูเมืองกำแพงเมือง  มีระบบการจัดผังเมือง  นำความรู้ในการสร้างฝายน้ำล้นมาใช้  และมีการสร้างคันดินขวางทางน้ำที่มาจากเทือกเขาเพื่อชะลอความแรงของน้ำ รวมทั้งบังคับให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ต้องการ  มีการสร้างทำนบ หรือ สรีดภงส์ เพื่อเก็บกักน้ำและชักน้ำไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองเสาหอเข้าสู่คูเมืองและพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม นอกจากนี้ยังมีการขุดสระน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในการเกษตรกรรมและการขุดบ่อน้ำซึมที่สะอาดจากใต้ดินมาใช้
.
- เอกสารสำหรับอ่านเพิ่มเติม -
๑) บทความเรื่อง บารายเมืองสุโขทัย โดย ธงชัย สาโค ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๖ พ.ย.-ธ.ค.๒๕๖๒ หน้าที่ ๕๗-๗๕ (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finearts.go.th/.../cuPFUeeUEipwNzjJAUkML1hI1e...)
๒) หนังสือ ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย โดย เอนก สีหามาตย์และคณะ (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/.../1TYO1yCMtoodAHEXgamH.../view...)
๓) รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำโบราณเมืองสุโขทัย ทำนบ ๗ อ. (บารายเมืองสุโขทัย) โดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ - ๒๕๖๑ (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://drive.google.com/.../1yJK3lURcVgbYexhRAN1.../view...)

















(จำนวนผู้เข้าชม 3729 ครั้ง)