...

แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่ถือว่าเก่าที่สุดในจังหวัดพิจิตร
 แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง : ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่ถือว่าเก่าที่สุดในจังหวัดพิจิตร
#โบราณคดีจังหวัดพิจิตร #พี่โข่ทั๋ยมี๋เรื๋องเล๋า
.
.
#แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในยุคประวัติศาสตร์ที่ถือว่าเก่าที่สุดในจังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มต่ำ มีลำน้ำหลายสายในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ ผังเมืองมีรูปร่างไม่สม่ำเสมอคล้ายรูปวงกลม พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันคงเหลือหลักฐานไม่มากนัก เนื่องจากที่ตั้งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม จึงทำให้ถูกทำลายไปส่วนใหญ่ ชุมชนวังแดงนับว่าเป็นชุมชนสำคัญ เพราะมีการขุดสระกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่บ้านสระเพ็ง เรียกอีกชื่อว่า “#สระเพ็ง” นอกจากนี้ ยังปรากฎว่ามีการค้นพบเหรียญเงินสมัยทวารวดี ลักษณะคือด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ ส่วนอีกด้านเป็นรูปสัญลักษณ์พระนารายณ์ หรือ ที่เรียกว่า “#เหรียญเงินศรีวัตสะ” ซึ่งมีอายุสมัย ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
.
พ.ศ. ๒๕๓๒ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สำรวจและตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านวังแดงไว้ในหนังสือเรื่อง “เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย” โดยเรียกว่า ชุมชนบ้านคลองเดื่อ ซึ่งมีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยทวารวดี เช่น ซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ และมีเหรียญเงินแบบทวารวดีที่มีผู้ขุดพบเป็นจำนวนมาก ชุมชนโบราณที่บ้านคลองเดื่อนี้ ยังปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดินให้เห็นบางส่วน ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ในเขตบ้านวังแดงได้มีการสำรวจพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ปรากฏเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อไม่แกร่ง หรือ ประเภทเนื้อดิน (Earthenware) กระจายตัวทั่วไปตามเนินดินที่อยู่ใกล้เคียง ดังนั้นชุมชนโบราณที่บ้านคลองเดื่อจึงสัมพันธ์กับสระน้ำขนาดใหญ่ที่บ้านวังแดง
.
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (ในขณะนั้นคือ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ สุโขทัย) ได้รับแจ้งจากพระครูพิลาศธรรมวิมล เจ้าอาวาสวัดวังแดง ให้มาตรวจสอบโบราณสถานที่บ้านวังแดง ซึ่งจากการสำรวจได้พบซากโบราณสถานหลายจุดก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ที่มีร่องรอยของแกลบข้าวเป็นส่วนผสม แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมจึงทำให้ร่องรอยเหล่านั้นถูกทำลายไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะซึ่งอยู่ในความครอบครองของราษฎรในพื้นที่ ในเบื้องต้นจึงกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔
.
ในเวลาต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๖ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย จัดทำ #โครงการโบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีแผนการดำเนินงานส่วนหนึ่ง คือ การขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง เพื่อศึกษาแหล่งวัฒนธรรมสมัยทวารวดี ที่ปรากฏอยู่ไม่มากนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและจังหวัดพิจิตร โดยคาดว่าผลการศึกษาจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนโบราณต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก่อนจะเกิดอาณาจักรสุโขทัย
.
ผลจากการศึกษาข้างต้นทำให้ได้ข้อสรุปว่า แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดงเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี โดยปรากฎร่องรอยกิจกรรมการอยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยนั้น มีการพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่งประเภทเนื้อดิน (earthenware) ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มักพบอย่างแพร่หลายในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีแห่งอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองโบราณอู่ตะเภา จังหวัดชัยนาท เป็นต้น รูปแบบภาชนะที่พบแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มภาชนะใช้ในครัวเรือน เช่น หม้อมีสัน หม้อก้นกลม ไห อ่างและชามต่าง ๆ ส่วนอีกกลุ่มได้แก่ กลุ่มภาชนะที่ใช้ในโอกาสอื่น ๆ รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนา พบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะประเภทจานหรือชามมีเชิงสูง หม้อน้ำมีพวย ตะเกียง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุประเภทอื่นที่อยู่ในความครอบครองของราษฎรในพื้นที่ซึ่งมีความร่วมสมัยกับชุมชนสมัยทวารวดีแห่งอื่น  เช่น เหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ แม่พิมพ์เหรียญรูปสังข์ ลูกปัดหิน ลูกปัดดินเผา เป็นต้น
.
เมื่อนำผลการศึกษาโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นและการสำรวจมาวิเคราะห์เปรียบเทียบร่วมกับการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้นำตัวอย่างดิน อิฐ และเศษภาชนะดินเผาไปทำการวิเคราะห์ จึงสันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง มีอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔
.
:: เอกสารอ้างอิง ::
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย. โบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร. กรุงเทพฯ : บริษัท บางกอกอินเฮ้าส์ จำกัด, ๒๕๕๗.
ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒.
.
.
#โบราณคดีจังหวัดพิจิตร #พี่โข๋ทั๋ยมี๋เรื๋องเล๋า
#โบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง
#องค์ความรู้ออนไลน์

(จำนวนผู้เข้าชม 599 ครั้ง)