...

วัดจุฬามณี 7
#วัดจุฬามณี๗ #การศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับพระปรางค์วัดจุฬามณี๒
อองรี ปาร์มองติเยร์ (๒๔๘๐) เสนอว่า พระปรางค์วัดจุฬามณี น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยให้ความเห็นว่ารูปแบบศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นศิลปะเขมรโดยแท้จริง กับกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร
กลุ่มแรกใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบเขมรใช้วัสดุหินทรายกับอิฐโดยไม่ใช้ปูน ซึ่งกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบกับจารึกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ สิ่งก่อสร้างกลุ่มนี้ เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร ใช้เทคนิคก่อสร้างและวัสดุในท้องถิ่น นิยมใช้ศิลาแลง อิฐ โดยใช้ปูนก่อ และปูนฉาบ  ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคการก่อสร้างของเขมร ในกลุ่มที่สองนี้ สามารถแบ่งย่อยได้อีกสองกลุ่ม กลุ่มย่อยแรก มีรากฐานมาจากศิลปะเขมร คือ ยังคงรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างแบบเขมรไว้ ตัวอย่างในกลุ่มนี้ ได้แก่ ศาลพระเสื้อเมือง วัดพระพายหลวง ศาลพระกาฬ วัดนครโกษา เทวสถานปรางค์แขก ปรางค์สามยอด วัดกำแพงแลง ส่วนใหญ่กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘
ส่วนอีกกลุ่มเรียกว่า กลุ่มที่เลียนแบบศิลปะเขมร ซึ่งมีรูปแบบคล้ายศิลปะเขมร แต่รูปแบบบางส่วนก็ไม่เคยปรากฎในศิลปะเขมรมาก่อน กลุ่มนี้มีลักษณะโดดเด่น ด้วยการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้น ได้แก่ วัดมหาธาตุ อยุธยา วัดราชบูรณะ วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี พระปรางค์ วัดจุฬามณี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๑ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ที่ได้รับการพัฒนารูปแบบและแรงบันดาลใจมาจากปราสาทของเขมร
สงวน รอดบุญ (๒๕๒๒) เสนอว่า ลวดลายปูนปั้นประดับพระปรางค์วัดจุฬามณี เป็นลวดลายศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นผสมสานกับศิลปะแบบสุโขทัย สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เช่นเดียวกับ น. ณ ปากน้ำ (๒๕๓๒, ๒๕๓๔ อ้างถึงใน สันติ เล็กสุขุม, ๒๕๓๙)
วิทย์ พิณคันเงิน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษาศิลปกรรมที่วัดจุฬามณี (อ้างถึงใน วรรณิภา ณ สงขลา, ๒๕๒๙) โดยให้ความเห็นว่า ลายปูนปั้นที่ปรางค์วัดจุฬามณี เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย เช่น ลายประดับหน้ากระดานของฐานรองรับเรือนธาตุ รวมถึงรูปหงส์ที่ประดับส่วนบัวหงายที่อยู่ถัดขึ้นมาจากหน้ากระดาน ซึ่งทำรูปหงส์เดินเรียงกัน คล้ายกับลายปูนปั้นรูปพระสงฆ์เดินเรียงกันรอบฐานองค์พระธาตุ วัดมหาธาตุสุโขทัย  จึงเชื่อว่าลายปูนปั้นที่วัดจุฬามณีน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากแบบอย่างงานศิลปะสุโขทัย
ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร (๒๕๓๓) โดย ภัทรุตม์ สายะเสวี และคณะ เสนอว่า พระปรางค์วัดจุฬามณีน่าจะเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ในช่วงอาณาจักรขอมโบราณปกครองภาคกลาง ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทได้เสด็จมาสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นใหม่บริเวณที่ตั้งปัจจุบันเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๐ ช่วงนี้คงจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจุฬามณี เนื่องจากในการขุดแต่งวัดจุฬามณี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๗ ถึง ๒๔๙๘ ได้มีการค้นพบนาคสามเศียรสำริด ศิลปะสุโขทัย จึงเชื่อว่าพระปรางค์น่าจะมีอยู่แต่เดิมแล้วได้รับการบูรณะในสมัยสุโขทัย
เอกสารอ้างอิง:
น. ณ ปากน้ำ. (๒๕๓๒). ลายปูนปั้น มัณฑนศิลป์อันเลอเลิศแห่งสยาม. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
______. (๒๕๓๔). วิวัฒนาการลายไทย. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
ภัทรุตม์ สายะเสวี. (๒๕๓๓). โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังเร่งด่วน วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก. กรุงเทพ ฯ : ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี. (เอกสารอัดสำเนา)
วรรณิภา ณ สงขลา. (๒๕๒๙). รายงานศึกษาศิลปกรรม จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์. กรุงเทพ ฯ : กองโบราณคดี. (เอกสารอัดสำเนา)
สงวน รอดบุญ. (๒๕๒๓). “พระปรางค์วัดจุฬามณี” รายงานผลการสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก ครั้งที่ ๑ ณ วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม พิษณุโลก ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๒ : โรงพิมพ์ศาสนา.
สันติ เล็กสุขุม. (๒๕๓๙). ปรางค์และลายปูนปั้นประดับ วัดจุฬามณี พิษณุโลก. นครปฐม: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Parmentier, H. (1937). L'Art Pseudo-Khmer au Siam et la Prang. The Journal of the Greater India Society, Vol IV No l, 1937.
#พี่โข๋ทัยมีเรื๋องเล๋า #วัดจุฬามณี  #วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี #ภาพสันนิษฐาน




(จำนวนผู้เข้าชม 1143 ครั้ง)