...

พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในจังหวัดตาก
พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในจังหวัดตาก
โดย นางรัตติยา ไชยวงศ์ นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย
.
จากการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดตาก ทำให้สามารถสรุปภาพรวมพัฒนาการทางวัฒนธรรมได้ว่า จังหวัดตากมีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ยาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยกรมศิลปากรได้สำรวจพบพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพและพบว่า พื้นที่บางส่วนใช้เป็นพื้นที่ผลิตเครื่องมือหิน โดยสามารถแบ่งกลุ่มพื้นที่ที่พบแหล่งโบราณคดีได้ ดังนี้
.
๑. บริเวณแอ่งแม่สอด พื้นที่บริเวณแอ่งแม่สอดอันมีแน่น้ำเมยเป็นลำน้ำสายหลัก การสำรวจบริเวณนี้พบแหล่งเตรียมวัตถุดิบในการผลิตเครื่องมือหินหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีคอกช้างและแหล่งโบราณคดีวังตะเคียนในพื้นที่อำเภอแม่สอด และสันนิษฐานว่าในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเมยในฝั่งตะวันตกซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของสหภาพเมียนม่าร์น่าจะมีแหล่งโบราณคดีที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่สำรวจพบในประเทศไทยเช่นกัน
.
๒. แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาถนนธงชัย แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงในเทือกเขาถนนธงชัยส่วนที่กั้นระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำเมยกับลุ่มแม่น้ำปิง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีดอยส้มป่อย แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม ๑ และ ๒ ในเขตอำเภอแม่สอด แหล่งโบราณคดีดอยสระกุลี และแหล่งโบราณคดีถ้ำผาวอก ในเขตอำเภอเมืองตาก จากตำแหน่งที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยใช้พื้นที่ดังกล่าวในช่วงราวยุคหินใหม่หรือต้นยุคโลหะ และมีการใช้พื้นที่เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ จึงทำให้แหล่งโบราณคดีบริเวณนี้พบโบราณวัตถุที่หลากหลายตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา เช่น เครื่องมือหินขัด เครื่องใช้และเครื่องประดับสำริด เครื่องประดับที่ทำด้วยแก้ว และโบราณวัตถุในยุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ เครื่องสังคโลก และเครื่องถ้วยจีน เป็นต้น
.
๓. แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ใกล้แม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาถนนธงชัย แหล่งโบราณคดีกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองตากและอำเภอบ้านตาก โดยพบแหล่งโบราณคดีในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในบริเวณวัดดอยข่อยเขาแก้ว และมีรายงานว่าพบเครื่องมือหินขัดในพื้นที่สนามบินจังหวัดตาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ใจกลางของอำเภอเมืองตากน่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ แหล่งโบราณคดีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำปิงเพราะตำแหน่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำปิง
.
๔. แหล่งโบราณคดีในกลุ่มห้วยแม่สลิด คลองขะยาง และคลองแม่ระกา เป็นกลุ่มแหล่งโบราณคดีที่สำคัญตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขาถนนธงชัย ในเขตอำเภอบ้านตากและอำเภอเมืองตาก พบแหล่งโบราณคดีบ้านเด่นไม้ซุง อำเภอบ้านตาก อยู่บริเวณห้วยแม่สลิด แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งแดง อำเภอเมืองตาก มีคลองขะยางไหลผ่าน ส่วนแหล่งโบราณคดีแถบคลองแม่ระกา ได้แก่ กลุ่มแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลวังประจบ อำเภอเมืองตาก ที่สำรวจพบได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ แหล่งโบราณคดีบ้านแก่งหิน แหล่งโบราณคดีนายเสียน และแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่ม ซึ่งพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในช่วงสมัยโลหะเรื่อยมา
.
หลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดตากเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมกับกลุ่มคนภายนอกมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าจะพบแหล่งผลิตเครื่องมือหินในแถบลุ่มแม่น้ำเมย แต่ยังไม่สามารถกำหนดอายุสมัยได้อย่างชัดเจน หรือแหล่งโบราณคดีบางแห่งที่น่าจะกำหนดอายุได้ในช่วงตั้งแต่สมัยหินใหม่เป็นต้นมาก็ยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนนัก เพราะยังมีการศึกษาน้อยเนื่องจากพื้นที่ที่พบแหล่งโบราณคดีเหล่านั้นเป็นพื้นที่ป่าและภูเขาสูง การเดินทางไม่สะดวก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวแหล่งโบราณคดีในพื้นที่แถบจังหวัดตากน่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนรวมถึงพื้นที่ในเขตเทือกเขาสูงที่ติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโลหะ พบว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอกอย่างชัดเจนโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพราะพื้นที่จังหวัดตาก มีเส้นทางบกที่สามารถเดินทางเชื่อมโยงไปทางทิศตะวันออกสู่จังหวัดลำปาง สุโขทัย และกำแพงเพชร ได้โดยสะดวก และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ในเขตประเทศเมียนม่าร์ ส่วนเส้นทางน้ำที่สามารถเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางได้แก่ แม่น้ำปิง นอกจากการคมนาคมทางน้ำแล้ว ยังมีหลักฐานการติดต่อกับชุมชนภายนอก เช่น การพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องประดับสำริดและเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้วที่แพร่หลายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย







(จำนวนผู้เข้าชม 1300 ครั้ง)