...

๘๐ ปี ประติมากรรมพ่อท่านเจ้าเขา - ตำนานยักษ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองยะลา
พ่อท่านเจ้าเขาอยู่ที่ใด
พ่อท่านเจ้าเขา คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ณ ประติมากรรมรูปยักษ์ ตั้งอยู่บริเวณลานตอนกลางบันไดทางขึ้นถ้ำแจ้ง ซึ่งเป็นถ้ำประดิษฐาน
พระไสยาสน์(พ่อท่านบรรทม) วัดคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 
ตำนานยักษ์ศักดิ์สิทธิ์
ชาวบ้านตำบลหน้าถ้ำเชื่อว่ายักษ์ตนนี้มีหน้าที่เฝ้าหน้าถ้ำคูหาภิมุข มิให้ผู้ใดเข้ามาขโมยทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ภายในถ้ำไปได้ กล่าวกันว่าในอดีตมีขุนโจรผู้มีจิตใจอันชั่วช้าพร้อมด้วยลูกสมุน พยายามเข้ามาขโมยทรัพย์สมบัติเหล่านี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและถูกยักษ์ทุบตีด้วยกระบองจนถึงแก่ความตาย 
 นอกจากนี้ยังเป็นที่เชื่อถือกันว่ายักษ์ตนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดความสงบร่มเย็น หากผู้ใดทำผิดศีลธรรมหรือทำเรื่องร้ายแรงก็สามารถดลบันดาลให้มีอันเป็นไป แต่หากผู้ใดตั้งมั่นในศีลธรรม หากยกมือไหว้หรือบนบานสิ่งใดก็จะได้รับพรสมปรารถนาโชคดีมีความสุขตลอดไป จึงเป็นที่นับถือจนได้รับการขนานนามว่า “พ่อท่านเจ้าเขา” มาตราบจนปัจจุบัน
สร้างรูปยักษ์
 พ.ศ.๒๔๘๔ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระพุทธไสยารักษ์เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ ของวัดคูหาภิมุข ผู้หลักผู้ใหญ่ของตำบลหน้าถ้ำในสมัยนั้นอันได้แก่ขุนนิวาส คูหามุข นายตีบ เพชรกล้า นายสง สุวรรณโพธิ์ และชาวบ้านอีกหลายๆท่าน เห็นตรงกันว่าควรสร้างรูปของพ่อท่านเจ้าเขาขึ้นเป็นขวัญกำลังใจและปกปักรักษาชาวบ้านหน้าถ้ำให้พ้นภัย จึงรวบรวมปัจจัยจากพระพุทธไสยารักษ์และคณะพุทธบริษัทวัดคูหาภิมุขเป็นเงิน ๔๓๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจนสำเร็จลุล่วง
ลักษณะของพ่อท่านเจ้าเขา
พ่อท่านเจ้าเขามีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปยักษ์ยืนตรงสูงราว ๖ เมตร รูปร่างหน้าตาคล้ายเงาะป่าซาไก ผมหยิก หนวดเครารุงรัง ดวงตาโปน มีเขี้ยวงอกออกมาพ้นริมฝีปาก มีงูบองหลา(งูจงอาง) เป็นสายสร้อยคล้องคอ ต้นแขทั้งสองข้างปั้นปูนเป็นสายรัดต้นแขนประดับด้วยหน้าบุคคลอย่างหน้ากากพรานบุญ ร่างกายท่อนล่างทำเป็นผ้านุ่งเหลืองมีลวดลายคล้ายการนุ่งด้วยหนังเสือ มือทั้งสองกุมกระบองที่มีหัวกะโหลกมนุษย์เป็นด้ามท้าย แนบไว้กลางลำตัวอย่างทะมัดทะแมง ส่วนเท้าเปลือยเปล่าไม่สวมรองเท้า
การบูรณะพ่อท่านเจ้าเขา
พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมศิลปากรจัดสรรงบประมาณ จากเงินกองทุนโบราณคดี เพื่อดำเนินการบูรณะพ่อท่านเจ้าเขา ระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ 

(จำนวนผู้เข้าชม 5918 ครั้ง)