...

รูปปั้นต้นแบบท้าวสุรนารี (เปรียบเทียบกับขนาดคนจริง) ปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นต้นแบบราวต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2477 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรุงเทพฯ
จากกระแสการประกวด มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 รอบชุดประจำจังหวัด เพื่อค้นหาที่สุดแห่งชุดประจำชาติ (Miss Grand Thailand 2024 : National Costume Competition) ชุดที่ถูกพูดถึงจนกลายเป็นไวรัลที่สุดในขณะนี้คือ พลอย-นันทิชา ยังวัฒนา มิสแกรนด์นครราชสีมา 2024 กับชุด "ย่าโม" ที่มาในรูปแบบของ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
และนี่คือภาพถ่ายรูปปั้นต้นแบบท้าวสุรนารี (เปรียบเทียบกับขนาดคนจริง) ปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นต้นแบบราวต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2477 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรุงเทพฯ
ตอนนี้ที่จังหวัดนครราชสีมากำลังมี "งานย่าโม" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะและเชิดชูวีรกรรมอันกล้าหาญ และความเสียสละของท้าวสุรนารีและวีรชนทุ่งสัมฤทธิ์ ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2567
หากจะถามว่าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมีมาแต่ไหน คงต้องย้อนไปอ่านในสาส์นสมเด็จที่ระบุถึงเรื่องราวและรูปต้นแบบก่อนที่เราจะเห็นเป็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในปัจจุบัน
"กถามรรค จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากรเขากำลังปั้นรูปท่านผู้หญิงโมกันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเป็นอนุสาวรีย์ประตูชัยโคราช มีขนาดสูง 4 ศอก เลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้า สไบเฉียง"
“ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบอยู่ตัวเล็กๆ หลายตัว ท่าต่างๆกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้น่าเอนดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาคือพวกดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี"
"เกล้ากระหม่อมขอถวายรูปท้าวสุรนารีที่นายเฟโรจีปั้น อันตัดจากหนังสือพิมพ์มาให้ทอดพระเนตร ปั้นดีพอใช้ เมื่ออ่านหนังสือใต้รูปว่าตั้งและฉลองกันแล้วก็ตกใจ อะไรหล่อแล้วเสร็จเร็วจริง ได้เห็นเมื่อต้นเดือนกำลังทำหุ่นปลาสเตออยู่ยังไม่แล้ว จึงไปฟังข่าวที่นายเฟโรจี ได้ความว่าเอารูปปลาสเตอทาเป็นสีทองสัมฤทธิ์ไปตั้งที่ไหนดูไม่ออก เห็นจะสูงอยู่เพราะเห็นหลังคามุงกระเบื้องหนุนหลังอยู่เบื้องต่ำ"
"รูปท้าวสุรนารีที่เฟโรจีปั้นน่าชมอยู่ เหตุที่ทำรูปปลาสเตอไปตั้งฉลองนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าเห็นจะเป็นเพราะยังไม่มีทุนพอจะหล่อเป็นรูปทองสัมฤทธิ์ จึงทำรูปพลาสเตอร์ไปตั้งเรี่ยไรเพื่อทำทุน"
ความตอนหนึ่งใน สาส์นสมเด็จภาค 3 และ 4 จดหมายระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(จำนวนผู้เข้าชม 32 ครั้ง)