...

รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดใหญ่นครชุมน์

     วัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๖ ตําบลนครชุมน์ อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ประวัติ วัดใหญ่นครชุมน์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยมีพระทองผาภูมิ เป็นผู้สนับสนุนในการก่อสร้าง อาคารสิ่งก่อสร้างที่เป็นของเก่าแก่คู่กับวัดมา คือ โบสถ์วิหาร เจดีย์บรรจุพระธาตุ และต้นโพธิ์ ๓ ต้น ซึ่งปลูกคู่วัดมาแต่เดิม เสนาสนะในบริเวณวัดได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองไม่ปรากฏหลักฐาน ครั้งที่สามเมื่อปีระกา เอกศก ๑๒๗๑ (พ.ศ. ๒๔๕๒) โดยพระบุญเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ และต่อมาครั้งที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระอธิการประเทินเป็นผู้ดําเนินการ และครั้งท้ายสุดในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้งบจากรัฐบาลจํานวน ๒๐,๐๐๐ บาท ทําการซ่อมแซมกระเบื้องพระอุโบสถ

 

     สิ่งสําคัญในวัดใหญ่นครชุมน์ มีดังนี้

     วิหาร ชาวมอญเรียกเป็นภาษารามัญว่า “ปากี” ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสร้างอยู่บนฐาน ก่ออิฐถมดิน ๒ ชั้น ชั้นล่างขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ ๔๐ เมตร สูง ๘๐ เซนติเมตร ฐานชั้นที่สองเป็นฐานอิฐก่อ ลักษณะของอิฐมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขนาดกว้างยาวด้านละ ๒๒.๕ *๒๓.๔ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร ฐานก่ออิฐสี่เหลี่ยมนี้เดิมมีผู้จะสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์มอญขนาดใหญ่แบบพระมุเตาขึ้นเพื่อให้เป็นประธานของวัด แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงเหลือให้เห็นแค่ฐานพระสถูปอิฐรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ต่อมามีการสร้างวิหารขึ้นบนฐานเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นบนแผ่นไม้ ผนังอาคารโล่งทั้งสี่ด้าน ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป มีป้ายไม้เขียนอักษรรามัญและไทยว่า

     “พระอธิการเข่งได้บํารุงขึ้นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙” บริเวณมุมของฐานก่ออิฐ และวิหารมีเจดีย์มอญ ๔ มุม



      ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประทับบนบัลลังก์ที่พนักบัลลังก์ประดับกระจกสีนําเงิน องค์ที่สองเป็นพระพุทธรูปสําริดปางประทานพร ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้ว ที่พระเศียรมีเครื่องประดับคล้ายพระพุทธรูปในศิลปะพม่า ด้านหน้ามีรูปปั้นอุบาสกชาวมอญ ๒ คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประติมากรรมเล่าเรื่อง พุทธประวัติ ตอนหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ แล้วได้ประทานพระเกศาให้แก่พ่อค้า ๒ คน คือ ปาลิยะภัทรลิกะ เป็นพุทธประวัติตอนหนึ่งที่ชาวมอญ-พม่านิยมกันมาก โดยมีเรื่องเล่าว่าต่อมาพ่อค้าทั้งสองได้นํา พระเกศาธาตุนั้น ไปบรรจุไว้ในการสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สามเป็นพระพุทธรูปสําริดปางสมาธิ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้ว สมัยรัตนโกสินทร์ แบบศิลปคันธารราฐ

     อุโบสถ ตั้งอยู่ภายในกําแพงแก้วสี่เหลี่ยมทึบเตี้ยบริเวณด้านหลังวิหาร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น หน้าบันก่อสูงจรดอกไก่อุโบสถตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกพื้นสูงฐานอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่สูงจรดขอบหน้าต่าง

     ด้านล่าง ผนังอุโบสถด้านหน้าและหลังมีลักษณะคล้ายกันคือ มีประตูทางเข้า ๒ ประตู ด้านบนมีปูนปั้นเป็นรูปซุ้มประดับเหนือกรอบประตูเป็นลวดลายใบไม้แบบฝรั่งทาสี ด้านข้างของกรอบผนังมีเสาหลอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมส่วนบนของผนังเชื่อมต่อกับส่วนของหน้าบัน มีลวดลายแท่งสี่เหลี่ยมคล้ายเสาหลอกประดับ หน้าบันปูนปั้นนูนต่ําลวดลายดอกไม้ หงส์ ลายประแจจีน และลายเรขาคณิตแบบจีน โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนล่างตรงกลางมีอักษรจารึกว่า “ปีระกาเอก์ศ๊ก ๑๒๗๑ พระบุญจัตรการปฏิสังขรณ์เบนครั้งที่ ๓” ในส่วนของลวดลายมีการตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยลายคราม และเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ผนังด้านข้างแบ่งส่วนของผนังออกเป็นช่องๆด้วยเสาหลอกติดผนังจํานวน ๕ช่อง ในแต่ละช่องจะมีซุ้มหน้าต่างอยู่ตรงกลาง ประดับลวดลายปูนปั้นระบายสีเป็นรูปคล้ายพระอาทิตย์เปล่งรัศมี และลายเรขาคณิตแบบฝรั่ง

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น จํานวน ๑๔ องค์ปัจจุบันอุโบสถมีสภาพชํารุดมากแตกร้าวทั้งหลัง ไม่มีการใช้ประกอบศาสนกิจเพราะทางวัดสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน

     เจดีย์ราย พบจํานวนหลายองค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังและย่อมุมไม้สิบสองแบบมอญตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ๑ องค์ ด้านหลังอุโบสถ ๒ องค์

เจดีย์ด้านหน้าอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลมสูง ๗.๒ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖.๕ เมตร ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่รูปแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลมมีขนาดเล็กยาวมีลวดลายปูนปั้นตกแต่ง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มและปลียอดขนาดใหญ่ ปลายสุดมีฉัตรโลหะปัก

     เจดีย์ด้านหลังอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง๔.๑๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมฐานเจดีย์เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลมเรียบ ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนและปลียอดขนาดใหญ่ ปลายสุดมีฉัตรโลหะปัก ส่วนอีกองค์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานซ้อนกัน ๓ ชั้นรองรับฐานสิงห์ ๓ ชั้น องค์ระฆังขนาดเล็กย่อมุม ส่วนยอดเป็นปลียอขนาดใหญ่

 

เรียบเรียง/ภาพ : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชํานาญการ

สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 2742 ครั้ง)