...

รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดป่าไผ่
     วัดป่าไผ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
     ประวัติ เป็นชุมชนชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมามีการขยายตัวของชุมชน ทำให้วัดที่สร้างขึ้นในระยะแรก คือ วัดคงคาราม ไม่เพียงพอกับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและไม่สะดวกสำหรับชาวรามัญที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลออกไปจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามหมู่บ้านใหญ่ๆ ภายใต้ความช่วยเหลือของพระครูรามัญญาธิบดี เจ้าอาวาสวัดคงคาราม
     วัดป่าไผ่ เป็นวัดมอญในรุ่นที่ ๓ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ขึ้นตรงกับวัดคงคาราม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง

     สิ่งสำคัญภายในวัดป่าไผ่ มีดังนี้


หอไตร
     หอไตร อาคารไม้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบอาคารเรือนยอดทรงปราสาท หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ซ้อนกันเป็นชั้นๆจำนวน ๕ ชั้น มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้งสี่ด้าน โดยมีเสานางเรียงรองรับชายคาด้านละ ๓ เสา การประดับตกแต่งหลังคาในแต่ละชั้นบริเวณมุมสันตะเข้จะประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นขนาดเล็กโดย ชั้นแรกที่อยู่ด้านล่างสุดตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปพญานาค ชั้นที่สองประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ชั้นที่สามประดับด้วยปูนปั้นรูปยักษ์ ชั้นที่สี่ประดับด้วยรูปเทวดาซ้อนกัน ๒ องค์ และชั้นที่ห้าประดับด้วยรูปเทวดาซ้อนกัน ๓ องค์ ส่วนยอดบนสุดเป็นไม้แกะสลัก รูปคล้ายเจดีย์สี่เหลี่ยมจำลองขนาดเล็ก และชายคาในแต่ละชั้น มีการตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายอย่างงดงาม


ภาพจิตรกรรมบนเพดานไม้

     ในส่วนตัวอาคารของหอไตรนั้นเดิมยกพื้นสูงและมีชั้นบนอีก ๒ ชั้น ปัจจุบันได้มีการต่อเติม ชั้นล่างสุดซึ่งเดิมเป็นยกพื้น โดยการก่ออิฐกำแพงเป็นห้องสำหรับเก็บข้าวของเครื่องใช้ของวัด ส่วนชั้นบนนั้นเป็นห้องโถงโล่ง มีฝาไม้กั้นเพียงครึ่งเดียวทั้งสามด้าน อีกด้านหนึ่งเปิดออกเชื่อมกับกุฏิสงฆ์ที่สร้างขึ้นใหม่ ชั้นที่สองยกขึ้นเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฏก ตั้งอยู่ในส่วนกลางของชั้นแรก มีบันไดนาคขึ้นทางด้านทิศตะวันตกผนังของชั้นที่สองเป็นฝาไม้ทึบทาสีขาว มีประตูทางเข้า ๑ ประตูเชื่อมต่อกับบันไดนาค ที่ผนังด้านข้างประตูตอนบนมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติตอนมหาปรินิพพาน ผนังทางด้านเหนือมีช่องหน้า ต่าง ๑ บาน บานประตูเขียนภาพเซี่ยวกางด้านนอกและทวารบาลด้านใน บานหน้าต่างด้านในเขียนภาพทวารบาล ผนังไม้ด้านในเรียบ หัวเสามีลวดลายตกแต่ง บนเพดานไม้เขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพ “ยันตรีนิสิงเห” ซึ่งเป็นยันต์ที่ใช้ปกป้องบ้านเรือนจากภูตผีและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ โดยแบ่งภาพออกเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมเล็กๆ ภายในกรอบจะมีภาพปราสาทและเทพต่างๆ สถิตอยู่ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้มีอิทธิพลของศิลปะมอญหรือพม่าปรากฏอยู่ตามเครื่องแต่งกายของรูปบุคคล
     ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมของหอไตรวัดป่าไผ่นี้ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ซึ่งได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมผสานกับสถาปัตยกรรมล้านนา นับว่าเป็นหอไตรแห่งแรกที่พบในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งช่างชาวรามัญได้สร้างขึ้น


อุโบสถ

     อุโบสถ ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่ แต่ยังสามารถศึกษารูปแบบศิลปะของอุโบสถหลังเดิมได้ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๓ ชั้น ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขลดด้านละ ๑ ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคา คันทวยเป็นรูปหงส์ทาสี ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นเหนือซุ้มประตูมีลวดลายปูนปั้นของหน้าบันอุโบสถหลังเก่า เป็นรูปต้นดอกไม้อยู่ในกระถางประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ผนังด้านหลังมีประตูทางเข้า ๒ ประตู เหนือซุ้มประตูมีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้อยู่ในกระถางและรูปนกกระยางประดับด้วยเครื่องถ้วยเบญจรงค์อยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นหน้าบันของอุโบสถหลังเดิมสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ต่อมามีการซ่อมแซมส่วนหลังคาใหม่แต่ยังคงลวดลายของเดิมไว้
     วิหาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งสร้างอยู่บนฐาน (วิหาร) สมัยอยุธยา ภายในวิหาร ประดิษฐาน พระประธาน ปูนปั้นขนาดเล็กประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ห่มจีวรเฉียงแนบลำตัว พระพักตร์แบบท้องถิ่น พระขนงโก่ง พระเกศาเป็นขมวดขนาดเล็ก พระรัศมีเป็นแท่งยาวรูปสามเหลี่ยมเรียวขึ้นด้านบน ด้านหน้ามีอักษร “นะ” ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น


พระประธานในวิหาร

     ด้านหน้าของฐานพระประธาน มีพระพุทธรูปสำริด ลักษณะพระวรกายอวบอ้วนขมวดพระเกศาเป็นปม พระรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์อิ่มเอิบ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นลายดอกพิกุล แสดงปางสมาธิ และแสดงปางมารวิชัย อย่างละ ๑ องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ( รัชกาลที่ ๓ )
 
เรียบเรียง : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน 
นักโบราณคดีชำนาญการ  สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
 

(จำนวนผู้เข้าชม 2076 ครั้ง)


Messenger