...

แมวขูดมะพร้าว
แมวขูดมะพร้าว
วัสดุ : ไม้, เหล็ก
ประวัติ :  ร้านรัตนาแอนติค มอบให้เมื่อ 9 ตุลาคม 2528
ขนาด : กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร
ลักษณะ : ไม้แกะสลักเป็นรูปแมวนอนหมอบยืดขาหน้า หางเก็บข้างลำตัว บริเวณดวงตาประดับกระจกสีเขียว แกะลายเส้นเป็นหนวดแมว ที่ปากแมวมีเหล็กทำเป็นซี่เล็ก ๆ ใช้สำหรับขูดมะพร้าวยื่นออกมา ที่ก้นแมวมีห่วงเหล็ก
สถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
-----------------------------------------------------------
อุปกรณ์ขูดมะพร้าวเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนในหลายภาค เนื่องจากอาหารไทยหรือขนมไทยหลายอย่างมีส่วนประกอบของมะพร้าวหรือกะทิ โดยแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกและรูปร่างที่ต่างกันไป  
ในภาคกลางคนจะนิยมเรียกว่า “กระต่ายขูดมะพร้าว” อาจเพราะมองว่า ส่วนเหล็กที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าว คล้ายกับฟันกระต่าย หรือบ้างก็ว่ามาจากรูปร่างที่นั่งที่นิยมทำเป็นรูปกระต่าย
แต่ที่ภาคเหนือกลับนิยมทำเป็นรูปแมว จึงเรียกว่า “แมวขูดมะพร้าว” (หรือ งอง) อาจเพราะมองเหล็กที่ขูดมะพร้าวคล้ายกับเล็บแมว หรือเพราะนิยมทำที่นั่งเป็นรูปแมว
ส่วนทางภาคใต้ จะเรียกว่า “เหล็กขูด” หรือ แหล็กขูด นิยมทำเป็นรูปสิงห์ สัตว์ต่าง ๆ หรือรูปคน   
.
วิธีใช้งานแมวขูดมะพร้าว เหมือนกันกับภาคอื่น ๆ คือ คนขูดจะนั่งลงบนส่วนที่นั่งในท่าทางที่ถนัด นำจานหรือถาดมารองไว้ที่ใต้เหล็กที่ใช้ขูด และนำมะพร้าวแห้งผ่าครึ่งมาขูดส่วนเนื้อมะพร้าวออกเบา ๆ  สามารถใช้งานได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย แต่ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ
.
ในภาคเหนือมีอาหารหรือขนมที่ต้องใช้ส่วนประกอบของเนื้อมะพร้าวหรือกะทิหลายอย่าง เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำลอ ขนมต้มกะทิ ขนมจ็อก ขนมลิ้นหมา ขนมแตงลาย ขนมกนน้ำอ้อย เป็นต้น
.
นอกจากแมวขูดมะพร้าวจะเป็นตัวช่วยในการขูดมะพร้าวได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของช่างที่ดัดแปลงส่วนที่นั่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามอีกด้วย
.
แต่ในปัจจุบันเราไม่ค่อยพบเห็นแมวขูดมะพร้าวตามครัวเรือนแล้ว เนื่องจากอาจเพราะมีเครื่องขูดมะพร้าวแบบไฟฟ้าที่ทุ่นแรงได้มากกว่าเข้ามาแทน หรือคนนิยมซื้อมะพร้าวหรือกะทิแบบที่ขายสำเร็จรูปมาใช้ปรุงอาหารเลยเพื่อประหยัดเวลา
--------------------------------------------------------
อ้างอิง
- พจนก กาญจนจันทร. “แมว กระต่าย และต้นไม้แห่งชีวิต”. ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน 30 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. ปทุมธานี : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. หน้า 140-150.
- พิชชา ทองขลิบ. “กระต่ายขูดมะพร้าว”. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...

(จำนวนผู้เข้าชม 63 ครั้ง)