...

พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2

         แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐

         วัสดุ (ชนิด) สำริด

         ขนาด ตักกว้าง ๙๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๔ เซนติเมตร

         ประวัติความเป็นมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยืมจัดแสดง

         ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 

         พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานหน้ากระดานเตี้ย รูปแบบศิลปกรรมเป็นพระพุทธรูปล้านนาที่เรียกว่า พระพุทธรูปแบบสิงห์ คือ มีพระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่งโค้งไม่ติดกัน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปมขนาดใหญ่ ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีทำด้วยไม้สามารถถอดแยกออกจากส่วนพระเศียรได้ พระวรกายอวบอ้วน พระอังสากว้าง พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ปลายหยักคล้ายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เท่ากัน 

พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีร่องรอยของสลัก (แซว่) เชื่อมต่อระหว่างส่วนพระเศียรกับพระวรกายเข้าด้วยกัน เทคนิคการปั้นหล่อนี้ปรากฏหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ว่าพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อประดิษฐานในวัดบุปผารามในพุทธศักราช ๒๐๔๘ มีที่ต่อถึง ๘ แห่ง  อย่างไรก็ดีเทคนิคที่ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลีปกรณ์อาจเป็นที่นิยมทำแพร่หลายอยู่ในล้านนามาก่อนก็เป็นได้

 

(จำนวนผู้เข้าชม 167 ครั้ง)