...

องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย เรื่อง ตุงล้านนา

องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย
เรื่อง ตุงล้านนา

ตุงล้านนา ซึ่งคำว่า ตุง เป็นภาษาถิ่นประจำภาคเหนือ แปลว่าธงที่ใช้สำหรับแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา สามารถพบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยคนทางภาคเหนือ จะนำตุงมาใช้เป็นเครื่องประดับ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ วัตถุที่นำมาทำตุงในล้านนามีหลากหลายรูปแบบ ลักษณะที่แผ่นวัตถุทำจากผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ทองเหลือง หรือใบลาน โดยนำไม้ส่วนปลายแขวนห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตามคติความเชื่อของคนล้านนาเกี่ยวกับตุงที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคล โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเชื่อพิธีกรรม ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ดีคนล้านนามีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นจะได้รับผลบุญและอานิสงค์ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเป็นอย่างมาก หรือบางตำรามีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์หรือเมื่อตกนรกชายตุงจะแกว่งฉุดวิญญาณขึ้นมาจากนรกให้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

นอกจากนี้การใช้ตุงทางภาคเหนือ ได้ปรากฏหลักฐานตามตำนานพระธาตุดอยตุง โดยกล่าวถึงการสร้างพระธาตุไว้ว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระเจ้าได้นำเอาพระบรมธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายแด่พระยาอนุตราชกษัตริย์ลำดับที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ทรงขอเอาที่แดนของพระยาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ในหมู่เขาสามเสียงเส้าเป็นที่ก่อสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุเมื่อจะสร้างพระมหาสถูปนั้นให้ทำ "คุงตะขาบใหญ่" ยาวถึงพันวาปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า หางตุงปลิวไปเพียงใดกำหนดหมายไว้เป็นฐานสถูปเพียงนั้น (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๔๕: ซีดี-รอม)

ส่วนประเภทของตุงล้านนา มีมากมายหลากหลายประเภทด้วยกัน แต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ จะเป็นตุงล้านนาเป็นที่นิยมในปัจจุบันที่ใช้ประกอบในงานพิธีมงคลเท่านั้น

๑. ตุง ๑๒ ราศี หรือตุง ๑๒ นักษัตร จะใช้ในงานช่วงปีใหม่ หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ตุงปี๋ใหม่เมือง ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในประเพณีปีใหม่เมือง วัสดุที่ทำผืนตุงส่วนใหญ่มักจะทำด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสา มีหลากหลายสีบางคนเลือกสีตามวันเกิด แต่ที่สำคัญจะมีรูป ๑๒ นักษัตร บนผืนตุงทั้งสองด้านเหมือนกันหมด เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้เป็นสิริมงคลกับตนเอง

๒. ตุงดอกบ้อง หรือตุงไส้หมู ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในประเพณีปีใหม่เมือง เช่นเดียวกับตุง ๑๒ ราศี หรือ ตุง ๑๒ นักษัตร หรือใช้ประดับตกแต่งงานพิธีบุญต่าง ๆ วัสดุที่ทำผืนตุงส่วนใหญ่มักจะทำด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสา มักทำเป็นพวงประดิษฐ์รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ตัดเป็นรูปลวดลายสวยงาม

๓. ตุงทราย ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาที่ใช้ปักเจดีย์ทรายช่วงในประเพณีปีใหม่เมือง มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปเทวดา โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำบุญถวายเทพเทวดาที่รักษาดูแลรักษาตัวเรา และขอขมาสิ่งที่ได้ล่วงเกินในปีที่ผ่านมา และนำไปไปปักบนเจดีย์ทรายพร้อมกับตุงอื่นๆ เช่น ตุงช่อน้อย ซึ่งเมื่อโดนลมก็จะปลิวไสวสวยงามอยู่บนเจดีย์ทราย

๔. ตุงช่อน้อย หรือตุงจ้อน้อย ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในงานปอยหลวง งานกฐิน หรือพิธีสืบชะตา วัสดุที่ทำผืนตุงทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มักเป็นกระดาษสา กระดาษว่าว และตัดให้มีลายต่าง ๆ ได้ตามใจ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และนิยมตัดขอบตุงเป็นขั้นบันได เปรียบเสมือนการสั่งสมความดีไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวขึ้นสู่สวรรค์ โดยหากมีขนาดใหญ่หน่อยก็เรียกว่า ตุงช่อจ๊าง หรือตุงจ้อช้าง

๕. ตุงไชย หรือตุงไจย เป็นตุงที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการรบของทหาร ในขณะที่ทำการรบชนะข้าศึกก็จะทำการปักตุงเพื่อแสดงว่าได้รับชัยชนะจากข้าศึกทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ ซึ่งก็หมายความว่าธงชัย สำหรับในปัจจุบันไม่ได้ทำการรบกันก็จะนำมาใช้ประกอบงานพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน โดยทำการปักเรียงรายตามสองข้างทางเข้าสู่วัด หรือหน้าพระประธานในวิหารหรือโบสถ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เพื่อให้เจ้าของตุงหรือผู้ร่วมถวายได้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน วัสดุที่ทำผืนตุงส่วนใหญ่มักจะทอจากเส้นด้าย เส้นไหม หรือผ้าชนิดต่างๆ จะมีสีเดียวหรือสลับสีกัน ลวดลายที่ใช้จะเป็นลวดลายที่เป็นมงคล

กล่าวโดยสรุปชาวล้านนาหรือคนภาคเหนือส่วนส่วนใหญ่นิยมนำตุงใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรือเฉลิมฉลองต่างๆ และยังมีตุงที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น ตุงผ้า หรือตุงทอ และตุงช่อ หรือตุงจ้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้ตุงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานเพื่อความสวยงาม โดยไม่ได้รู้ถึงความหมาย และวัตถุประสงค์ของการนำตุงมาใช้อย่างแท้จริง สาเหตุหลักที่สำคัญอีกประการก็คือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวล้านนา จากเดิมในอดีตบรรพบุรุษของชาวล้านนาได้ประดิษฐ์ตุงล้านนา เพื่อไว้ใช้ในงานหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง จึงเป็นการแสดงออกถึงการอนุรักษ์ศิลปะ ภูมิปัญญาของชาวล้านนาตามคติความเชื่อเกี่ยวกับการนำตุงมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งนี้ผู้เขียนจึงอยากเห็นถึงการอนุรักษ์ รูปแบบคติความเชื่อ วัฒนธรรมเกี่ยวกับนำตุงล้านามาใช้เพื่อสืบทอดต่อรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตให้เท่าทันกับยุคสมัยใหม่ สมกับคำว่า "ตุงล้านนากับวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย

ผู้รวบรวมและเรียบเรียง : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

 แหล่งอ้างอิง :

เข้ม ข่าวค่ำ.  รายงานพิเศษ ตุงล้านนา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.youtube.com/watch?v=xheidFvi90U&t=202s, ๒๕๕๘.

เชียงใหม่นิวส์.  ตุงไส้หมู กับ วันพญาวัน.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/688862/, ๒๕๖๑.

ผู้จัดการออนไลน์.  รอบรู้เรื่องเที่ยว : ไปเชียงราย ไหว้ดอยตุง ทำ "ตุงล้านนา" ที่บ้านครูจารินทร์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9620000052700, ๒๕๖๒.

ศิลปหัตถกรรมไทย.  ตุงล้านนา.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://sites.google.com/site/silphatthkrrmthiy/phakh-henux/tung-lan-na.

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา.  สารคดีส่งเสริมความรู้ชุดปัญญาพื้นถิ่น ตอน ตุงล้านนา.  [ซีดี-รอม].  เชียงใหม่ : โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๔๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 37960 ครั้ง)