...

พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอนที่ 2

          พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ประทับนั่งห้อยพระบาทข้างหนึ่งลงมา (ลลิตาสนะ) ด้านหลังมีร่องรอยประภามณฑลประดับอยู่ พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลม สวมกรองศอ พระหัตถ์ข้างขวาถือผลมะนาว พระหัตถ์ซ้ายจับพังพอน 
          พระโพธิสัตว์ชัมภลได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างมากในพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียกลาง ทิเบต จีน และญี่ปุ่น ในคัมภีร์สาธนมาลาได้มีการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ชัมภลไว้ว่า มีวรรณะสีทอง มีนาภีใหญ่ มี 2 กร ถือผลมะนาวในพระหัตถ์ขวา และถือพังพอนในพระหัตถ์ซ้าย และได้พยายามจัดให้พระโพธิสัตว์ชัมภลอยู่ในสกุลหนึ่งในห้าสกุลของพระธยานิพุทธ โดยคัมภีร์สาธนมาลาบางบทได้จัดให้พระโพธิสัตว์ชัมภลอยู่ในสกุลของธยานิพุทธรัตนสัมภาวะ บางบทก็จัดให้อยู่ในสกุลธยานิพุทธอักโษภยะ หรือในสกุลธยานิพุทธอมิตาภะ และในบางครั้งพระโพธิสัตว์ชัมภลก็มักจะปรากฏพระองค์พร้อมกับพระธยานิพุทธทั้ง 5
          ตามคัมภีร์ที่ว่าด้วยประติมานวิทยา ประติมากรรมรูปเคารพท้าวกุเวรจะปรากฏในรูปกายเป็นบุรุษรูปร่างอ้วน ท้องพลุ้ย สวมมงกุฎ และเครื่องประดับตกแต่งกายมากมาย ในรูปปกติมักมี 2 กร พระหัตถ์มักแสดงปางประทานพร หรือปางประทานอภัย แต่ถ้าอยู่ในรูปดุร้ายมักมี 4 กร ในพระหัตถ์มักถือกระบองหรือคฑาเป็นอาวุธ ส่วนประติมากรรมรูปเคารพพระโพธิสัตว์ชัมภลมีลักษณะรูปกายเป็นบุรุษรูปร่างอ้วน ท้องพลุ้ย สวมมงกุฎ และเครื่องประดับตกแต่งกายมากมายเช่นเดียวกับท้าวกุเวร แต่จะแตกต่างกันตรงที่ พระโพธิสัตว์ชัมภลจะถือผลมะนาวในพระหัตถ์ขวา และถือพังพอนในพระหัตถ์ซ้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย
          คติการบูชาพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือท้าวกุเวรน่าจะแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนในประเทศไทยพร้อมกับการเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย จากการสำรวจทางด้านโบราณคดีพบว่า บริเวณส่วนใหญ่ที่พบประติมากรรมรูปเคารพพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือท้าวกุเวรในดินแดนประเทศไทย รวมทั้งในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ล้วนแต่เคยเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมาก่อน สันนิษฐานว่าคติดังกล่าวคงจะเข้ามาโดยกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย และตั้งถิ่นฐาน ด้วยเชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือท้าวกุเวร เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งร่ำรวย 
...........................................................................
โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สวาหะ
.........................................................................
เรียบเรียง/ กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 
อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส. ม.ป.ท., 2525.
2. กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์ จำกัด, 2543.
3. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543.
4. พิริยะ ไกรฤกษ์. “เทพในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน : ประติมากรรมที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 7 (2542): 3482-3493.
5. องอาจ ศรียะพันธ์. “รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
6. อุษา โพธิกนิษฐ. “การศึกษารูปแบบและคติการนับถือพระกุเวรในสมัยทวารวดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527

(จำนวนผู้เข้าชม 2954 ครั้ง)