...

วัดเชียงมั่น
โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน โบราณสถานในเขตจังหวัดเชียงใหม่

ประวัติโบราณสถาน

เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง จารึกที่พบในวัดได้กล่าวถึงพญามังรายโปรดได้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ประทับและสถาปนาเป็นวัด เรียกว่า วัดเชียงมั่น ต่อมาในสมัยพญาติโลกราชโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2014 ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงพญามังรายได้เสด็จจากเวียงเชียงมั่นหรือเวียงเหล็กเข้าไปประทับในพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ และในตำนานพิ้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าพญามังรายได้ตั้งเวียงในชัยภูมิที่เรียกว่า เชียงมั่น

จากหลักศิลาจารึกที่ 76 ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น พ.ศ. 1839 ได้กล่าวถึงวัดเชียงมั่นว่า พญามังรายได้ทรงสร้างที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมือง เมือ่แล้วเสร็จก้ได้โปรดให้ก่อเจดีย์ตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ให้ชื่อว่าวัดเชียงมั่น นับเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของเมืองชียงใหม่ ต่อมา พ.ศ. 2014 ในรัชสมัยพญาโลกติการาช ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ด้วยศิลาแลง 87 ปีต่อมา พม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมสนาสนะ กำแพงประตูโขง

  • สมัยพระจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2325-พ.ศ. 2367) ได้บูรณะถาวรสถานเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม

  • เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น บนฐานประดับปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัวโดยรอบ 15 เชือก และประดับช้างประจำมุมๆ ละ 1 เชือก ระหว่างช้างปูนปั้นแต่ละเชือก ประดับด้วยเสาลายเป็นภาพหน้าตัดของสถาปัตยกรรมอันประกอบด่วยฐานเขียง 2 ชั้น บัวคว่ำ ประดับลูกแก้วอกไก่ 4 เส้น และบัวหงายรับกับพื้นชั้นบน ของฐานเขียงชั้นที่ 2 ด้านทิศตะวันออกมีบันไดนาค ทอดยาวนับแต่ส่วนบนฐานเขียงชั้นที่ 2 ลงมาจนถึงพื้น ถัดไปเป็นฐานปัทม์ย่อเก็จ คั่นส่วนท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น รองรับองค์เรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้ 12 องค์ องค์เรือนธาตุแต่ละด้านประดับซุ้มจรนำ ด้านละ 3 ซุ้ม ภายในประดิษฐานสิ่งสักการะ ยกเว้นซุ้มกลางด้านทิศตะวันตกซึ่งปิดทับด้วยประตูจำลองประดับลวดลายปูนปั้น ส่วนบนของซุ้มทั้ง 4 ชั้น ประดับลูกแก้วอกไก่ บัวหงาย และหน้ากระดานรองรับจรนำของแต่ละซุ้ม องค์เรือนธาตุประดับลวดลายปูนปั้น ถัดไปเป้นบัวถลา 2 ชั้น มาลัยเถาแปดเหลี่ยม 4 ชั้น องค์ระฆัง บัลลังค์ คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น วงฉัตรโลหะฉลุลายปรดับด้วยก้านตาล ปล้องไฉน ปลียอด เม็ดน้ำค้าง
  • วิหาร ทรวดทรงแบบล้านนา แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการซ่อมแซมกันต่อๆมา
  • อุโบสถ เป็นอาคารลักษณะรูปทรงล้านนา
  • หอไตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นก่ออิฐฉาบปูน ชั้นบนเป็นไม้


(จำนวนผู้เข้าชม 13137 ครั้ง)