วันครู
ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุดฺตรานุสาสกา
ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหํ
 
ครู นับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสําคัญในการให้การศึกษา ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสีย สละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอน อบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการ นำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยเห็นความสำคัญของครูดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้กำหนด ให้มีวันครูขึ้น ในวันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญู กตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม
 
ประวัติความเป็นมาของการจัดงานวันครู
 
ในปี ๒๔๙๙ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ ถึงความคิดที่จะกำหนดให้ มีวันครู และเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูโดยทั่วไป
 
ดังนั้น ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติกำหนดให้ วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ประกาศ พระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็น "วันครู"
 
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุ เบกษาในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “คุรุสภา” เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยา และวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัว ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
 
ในทุกปี คุรุสภาได้ให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่าน มา และซักถามข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา มีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย
 
หอสมุดขอร่วมเชิดชู และรำลึกในพระคุณครู เนื่องในวันครู ซึ่งหากไม่มีคุณครูแล้ว อาจจะไม่มีพวกเราหลายคน ที่เติบโตอย่างสมบูรณ์ พร้อมด้วยวิชาความรู้ ที่ถูกอบรมมาได้จนวันนี้
 
อ้างอิง
ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก, ๒๕๔๑.
สุภักดิ์ อนุกูล. วันสำคัญของไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๓๗.
บุญเอื้อ รัตนางกูร. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ: ไพลิน, ๒๕๕๕.
 
จัดทำโดย
พัชมณ ศรีสัตย์รสนา
บรรณารักษ์ชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 184 ครั้ง)