"ทำไม" วันเด็กแห่งชาติ จึงต้องมีการจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ ในเดือนมกราคมของทุกปี?
ไหนมีใครเคยสงสัยไหมว่า "ทำไม" วันเด็กแห่งชาติ จึงต้องมีการจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ ในเดือนมกราคมของทุกปี?
 
วันเด็กแห่งชาติ ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก
 
วันนี้ หอสมุดจะพาทุกท่านมาไขข้อสงสัยด้วยการนำเสนอประวัติวันเด็กแห่งชาติกันค่ะ
 
ประวัติความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติ
 
นายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเด็ก และเพื่อกระตุ้นเตือนให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง งานวันเด็กแห่งชาติในเมืองไทยครั้งแรกนั้น จัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้จัดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ จึงมีความคิดว่าควรจะเปลี่ยนไปจัดงานวันเด็กในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่พ้นจากฤดูฝนมาแล้ว และเป็นวันหยุดราชการ ทำให้เกิดความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
 
แต่การในปีถัดมา พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่สามารถจัดงานวันเด็ก ได้ทัน จึงได้เริ่มจัดในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยยึดถือเอาวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ มาจนถึงบัดนี้
 
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมา คณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบ โรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม
 
ทุกปีเมื่อถึงวันเด็กแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และนายกรัฐมนตรี จะมอบคำขวัญวันเด็กให้กับเด็กไทยทุกปี ส่วนกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ก็จะเป็นงานที่จัดโดยความร่วมมือของทั้ง ภาครัฐ และเอกชน มีการจัดงานเพื่อความรู้ ความบันเทิง การจัดนิทรรศการ การประกวดวาดภาพ การร้องเพลง ตอบปัญหา เล่นเกม แจกของขวัญแก่เด็ก ที่ไปร่วมงานทั้งการเปิดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ให้ชม เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาเป็นต้น
 
การริเริ่มให้มีคำขวัญในวันเด็กได้เริ่มในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกในขณะนั้น ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งคำขวัญแรกมีใจความว่า “ขอให้เด็กในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้าเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า” ในการจัดงานวันเด็กนั้น ทางรัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กโดยเฉพาะ คณะหนึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ในส่วนกลาง และภูมิภาค เพื่อให้งานที่จะออกมานั้นสมบูรณ์ เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงความสำคัญของตนเอง รู้ถึงระเบียบ สิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อตนเอง
 
เป็นอย่างไรบ้างคะ? เตรียมตัวพบกับสาระความรู้ดี ๆ ต่อจากนี้กันได้ที่เพจของเรานะคะ
 
อ้างอิง
ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก, ๒๕๔๑.
สุภักดิ์ อนุกูล. วันสำคัญของไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๓๗.
บุญเอื้อ รัตนางกูร. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ: ไพลิน, ๒๕๕๕.
 
จัดทำโดย
พัชมณ ศรีสัตย์รสนา
บรรณารักษ์ชำนาญการ
ดาวน์โหลดไฟล์: วันเด็ก.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 2198 ครั้ง)