...

มะโรงนักษัตร
มะโรงนักษัตร
ชมโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับนาค
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
มะโรง ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา คือ น. ชื่อปีที่ ๕ ของรอบปีนักษัตร มีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย ในวรรณกรรม “เฉลิมไตรภพ” กล่าวว่า “ที่ห้าพระยาภุชงค์ เจ็ดเศียรหนึ่งองค์ นามปีมะโรงวาสุกี” ทางจีน ปีมะโรง คือ เซิน/เฉิน หรือ หลง/เล้ง เป็นมังกร มังกรเป็นสัตว์ที่สัมพันธ์กับฤดูกาล เทพเจ้าแห่งฟ้าฝน การเปลี่ยนแปลงของวันเวลามีความสำคัญต่อการทำเกษตรของคนจีน
.
     งูใหญ่ มีรูปร่างแตกต่างกันไปตามจินตนาการของกลุ่มชนต่างๆ คนไทยรับคติความเชื่อจากศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู งูใหญ่ จึงมีลักษณะอย่างนาค เป็นงูใหญ่ที่มีหงอน นาคเป็นสัตว์วิเศษ มีฤทธิ์ และเชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ สัมพันธ์กับปรากฎการณ์ฝนตก ความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนาคมีความสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดูอย่างแน่นแฟ้น
ปีมะโรง ล้านนา คือ “สี” ตัวเปิ้งหรือนักษัตร คือ งูใหญ่
.
     การบูชาพระธาตุประจำปีเกิด หรือการ “ชุธาตุ” เป็นความเชื่อเรื่องการบูชาพระธาตุองค์เจดีย์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนา ๑๒ องค์ ตามปีนักษัตร ชาวล้านนามีความเชื่อว่าบุคคลใดๆ ก่อนที่จะมาเกิดเป็นชีวิตช่วงก่อนการปฏิสนธิจะก่อรูปเป็นภาวะจิตที่นิ่งสถิตอยู่ ณ องค์พระธาตุที่สำคัญที่ประจำในแต่ละรอบปี แล้วนำดวงจิตนั้นมาอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีสัตว์อยู่เฝ้ารักษาแต่ละปีเกิด เมื่อครบวาระแล้วดวงจิตนั้นจะเปลี่ยนรูปเป็นลักษระของดาวกลายเข้าสู่ช่วงแห่งการปฏิสนธิก่อเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง โดยในปี “สี” หรือมะโรง บูชาพระธาตุวัดพระสิงห์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
.
     คติความเชื่อเรื่องงู หรือนาค ปรากฏในงานศิลปกรรมต่างๆ เช่น ราวบันได หน้าบัน ช่อฟ้า หงหงส์ คันทวย ฐานชุกชี ภาพจิตรกรรม ธรรมาสน์ สัตภัณฑ์ หรือตกแต่งในเครื่องพุทธบูชาต่างๆ ตัวอย่างงานศิลปกรรมที่โดดเด่น อาทิ บันไดนาคทางเข้าวิหารวัดภูมินทร์ จ.น่าน บันไดนาควัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน ฐานชุกชีนาคบัลลังก์วิหารวัดหนองแดง จ.น่าน นาคปูนปั้นเกี้ยวกระหวัดทางเข้าวิหาร วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น
.
    สะพานนาคราชค่อยๆ เลื้อยคดเคี้ยวสู่อาคาร แสดงวัดหรืออาคารเป็นโลกสมมติของชาวพุทธ นาคคือรุ้ง โดยมีนาคราชเป็นสะพานเชื่อม ระหว่างเบื้องล่างคือโลกมนุษย์ กับเบื้องบนคือสวรรค์ ยังแสดงถึงทางเชื่อมของโลกียะ สู่โลกุตระ หรือให้พญานาคเป็นสะพานนำมาเข้าสู่โพธิญาณ
.
     เมืองน่านกับความเชื่อเรือนาค เชื่อว่าคำว่า “น่าน” คือ “นาคนาม” ตามระบบภูมิทักษา เมืองน่านขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “น” จากตำนานวังนาคินทร์คำชะโนดแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับล้านช้าง โดนปรากฏตำนานการสร้างแม่น้ำโขง และแม่น้ำน่านโดยพญานาค บางคนเชื่อว่า “ขุนนุ่น” และ “ขุนฟอง” ราชบุตรบุญธรรมของพญาภูคา ปฐมกษัตริย์เจ้าผู้ครองน่าน ถือกำเนิดมาจากไข่ โดยไข่นั้นเป็นไข่พญานาค ราชบุตรทั้งสองจึงมี “เชื้อสายนาคเป็นปฐม” ทั้งนี้ “หัวเรือแข่งเมืองน่าน” มีการแกะสลักเป็นรูปนาค ซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าหากปีใดแห้งแล้งจะนำเรือแข่งมางเล่นน้ำน้ำเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งแสดงโลกทัศน์และความเชื่อของชาวน่านที่ผูกแน่นกับศาสนา และเชื่อว่านาคเป็นผู้มีอำนาจ สามารถให้คุณและโทษได้ เกี่ยวข้องกับน้ำ มีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกได้
.
เอกสารอ้างอิง
ยุทธพร นาคสุข. ประวัติเรือแข่งเมืองน่าน จากเอกสาร ตำนาน และเรื่องเล่า. เชียงใหม่ : มรดกล้านนา. ๒๕๕๒.
ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี. พุทธศิลป์ล้านนา รูปแบบ แนวคิด และการวิเคราะห์. เชียงใหม่ : เชียงใหม่สแกนเนอร์. ๒๕๖๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 157 ครั้ง)


Messenger