...

๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันปิยมหาราช
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันปิยมหาราช
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕)
.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ พุทธศักราช ๒๔๔๔ เพื่อทรงตรวจราชการทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง และพระราชทานพระแสงศัสตราประจำเมือง เพื่อใช้ในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปี เสด็จโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบางปะอินล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาต่อด้วยลำน้ำน่าน แวะประทับและปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามหัวเมืองรายทางสองฝั่งลำน้ำอันได้แก่ เมืองอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สรรพยา สรรคบุรี ชัยนาท มโนรมย์ อุทัยธานี พยุหคีรี นครสวรรค์ บางมูลนาค บ้านขะมัง พิจิตร พิษณุโลก พิชัย ตรอนตรีสินธุ์ อุตรดิตถ์ สุดทางเสด็จที่เมืองฝาง แล้วเสด็จกลับโดยเรือพระที่นั่งตามเส้นทางเดิมจนถึงพระราชวังบางปะอิน
.
ระหว่างประทับหัวเมืองต่าง ๆ ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่ที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ความในพระราชหัตถเลขาบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติและเส้นทางการเสด็จในสถานที่ต่าง ๆ วิถีชีวิตของราษฎร และพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ ความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า
.
(ฉบับที่ ๑๗) เมืองอุตรดิฐ วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
“...คั่น ได้มาถึงพลับพลาเมืองอุตรดิฐเวลาบ่าย ๑ โมงเศษ เจ้านครน่าน๒ซึ่งลงมาโดยทางเรือ เจ้านครลำปาง๓ เจ้านครเมืองแพร่๔ซึ่งมาทางบก แลข้าราชการหัวเมืองคอยรับอยู่ที่ตพานน้ำ พลับพลานี้ตั้งอยู่ที่ใต้วัดเตาหม้อริมทางที่จะขึ้นพระแท่น ปลูกบนฝั่งซึ่งมีต้นไม้ร่มรื่นล้วนแต่ไม้ผล ต้นส้มโอใหญ่ซึ่งกำลังมีลูกติด ต้นลำไยแลมะม่วงเปนต้น พื้นดินทำเปนถนนสวนสนุก ที่พลับพลาก็ทำเปนที่สบายตกแต่งพร้อมด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ มีรูปภาพซึ่งทำด้วยกล้วยไม้แลเห็ดตะไคร่น้ำหญ้า เปนรูปแผนที่แลรูปพระต่าง ๆ พอดูได้ช่างคิดดี เจ้านายเมืองข้างเหนือได้นำบุตรหลานมาหา บัวไหลภรรยาเจ้าเมืองแพร่ได้นำแพรปักดิ้นสำหรับคลุมพระราชยาน แลผ้าสำหรับคลุมพระแท่นศิลาอาศน์ ซึ่งเขาได้วัดไปเย็บไว้แต่เมื่อลงไปกรุงเทพ ฯ ครั้งก่อน เพื่อจะคอยให้เวลาที่จะขึ้นมานมัสการพระแท่นซึ่งได้กำหนดไว้แล้ว ๆ ได้ถ่ายรูปพร้อมพระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการทั้งในกรุงแลหัวเมือง พวกจีนที่ท่าอิฐแห่เครื่องบูชาอันตกแต่งด้วยกิมฮวยแลธูปเทียนเปนอันมากมาให้ ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง ได้ลงเรือเล็กขึ้นไปตามลำน้ำ ซึ่งเรือลูกค้าจอดเรียงรายขึ้นไปเกือบ ๒๐๐ ลำ จนสุดหัวหาดข้างเหนือ แล้วขึ้นตพานอันใช้ไม้ขอนสักเปนทุ่นรับขึ้นไปจนถึงหาด ตั้งแต่ต้นตพานนั้น พวกจีนเรี่ยรายกันดาดปรำตลอดถนนตลาดยาว ๓๐ เส้น ใช้เสา ๓ แถวกว้างใหญ่เต็มถนน ในตลาดนั้นมีเรือนแถวฝากระดาน ๒ ชั้น แต่ใหญ่ ๆ กว่าที่กรุงเทพฯ ที่แล้วก็มาก ที่ยังทำอยู่ก็มี เปนร้านขายของอย่างครึกครื้น ที่เปนบ้านเรือนแลห้างก็มีบ้าง เขาว่าตลาดบกที่นี่ดีกว่าที่ปากน้ำโพซึ่งฉันยังไม่ได้เห็น แต่ตลาดเรือนั้น ที่นี่สู้ปากน้ำโพไม่ได้ การซึ่งตลาดติดได้ใหญ่โต เพราะพวกเมืองแพร่มาลงที่ท่าเสาเหนือท่าอิฐขึ้นไปคุ้งหนึ่ง พวกเมืองน่านลงมาทางลำน้ำ พวกข้างเหนือแลตวันออกลงข้างฟากตวันออก แต่มาประชุมกันค้าขายแลกเปลี่ยนอยู่ที่หาดนั้น แต่ก่อนมาสินค้าข้างล่างขึ้นมายังไม่สดวกดังเช่นทุกวันนี้ แต่บัดนี้พวกลูกค้ารับช่วงกันเปนตอนๆ พวกที่นี่ลงไปเพียงปากน้ำโพ พวกปากน้ำโพรับสินค้าจากกรุงเทพ ฯ เปนการสดวกดีขึ้น เมื่อเดินไปสุดตลาดแล้วลงเรือกลับมาพลับพลา เวลาค่ำแต่งประทีปสว่างทั่วไปตามฝั่งน้ำแลถนน ได้มีการเลี้ยงเจ้านายแลข้าราชการทั้งในกรุงแลหัวเมืองที่พลับพลา...”
.
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการและเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ด้วย
.
วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับพลับพลาที่ประทับแรมเมืองอุตรดิตถ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ คือ
ช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้านครเมืองน่าน (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๒ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ท.ช. (จุลวราภรณ์))
วันที่ ๒๕ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๐ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้านครเมืองน่าน (เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า ท.จ.)
.
ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉายพระรูปร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและเจ้าเมืองประเทศราช เจ้าเมืองล้านนาที่มาเฝ้ารับเสด็จ ณ พลับพลาที่ประทับเมืองอุตรดิตถ์ หน้าพลับพลารับเสด็จหน้าวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) พ.ศ. ๒๔๔๔ เมื่อคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ โดยแถวหน้านับจากซ้าย-ขวา
คนที่ ๕ คือ เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่
คนที่ ๖ คือ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง
คนที่ ๗ คือ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อครั้งเป็นเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
คนที่ ๘ คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
คนที่ ๙ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
คนที่ ๑๐ คือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
คนที่ ๑๑ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
.
เอกสารอ้างอิง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕. กรมศิลปากร : พระนคร. ๒๕๐๘. เข้าถึงได้โดย https://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/view/20146-พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ-ในรัชกาลที่-5?fbclid=IwAR0M7HhbFRgghWJIx4ICjK3PNl75d2abptShtkH6dW2kEC3SIV55mS-bVgk
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๑ หน้า ๖๑๙ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๑๒๐ เข้าถึงได้โดย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/032/618.PDF
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ตามรอยเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ จากพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. เข้าถึงได้โดย https://www.facebook.com/NationalArchivesofThailand/posts/pfbid02Qn8z5boRWiqbDXTRFJVYWBJXrH6eeqFptYs5aGyL1gxk8UbGzzUPJ5MgDsPV5EhLl
https://commons.wikimedia.org/.../File:King_chula_Utt...

(จำนวนผู้เข้าชม 317 ครั้ง)


Messenger