...

น่าน ในแบบเรียนภูมิศาสตร์ประเทศสยาม พ.ศ.๒๔๖๘
น่าน : ในแบบเรียนภูมิศาสตร์ประเทศสยาม พ.ศ.๒๔๖๘
.
 แม่น้ำ
 แม่น้ำน่าน. ต้นกำเนิดจากดอยภูแวในอำเภอปัวริมเตต์แดนของฝรั่งเศส แล้วไหลผ่านอำเภอเมืองน่านลงไปทางใต้ ผ่านจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ตำบลปากน้ำโพในจังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลรวมกันลงไปทางทิศใต้เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่านยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร จังหวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำ คือ จังหวัดน่าน, อุตรดิตถ์, พิษณุโลกและพิจิตร แม่น้ำนี้ตอนตั้งแต่อำเภอปัวลงมาจนถึงปากน้ำโพมีน้ำตลอดปี เรือสินค้าต่างๆเดินได้ แต่ไม่ใคร่สะดวกเพราะมีเกาะแก่งอยู่มาก แก่งที่สำคัญ คือ แก่งหลวง อยู่ที่เขตต์อำเภอบุญยืน (อำเภอเวียงสา) กับอำเภอนาน้อยต่อกัน เรือบรรทุกสินค้าไปล่มเสียที่แก่งนี้มาก เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ รัฐบาลได้ระเบิดแก่งนี้ออกแล้ว ก็เพียงบรรเทาความลำบากบ้างเล็กน้อยเท่านั้น (หน้า ๑๘-๑๙)
.
 ภูเขาภูคา สูง ๑๗๐๐ เมตร อยู่ในจังหวัดน่าน ภูเขาภูหวด สูง ๑๗๐๐ เมตร อยู่ในจังหวัดน่าน (หน้า ๕๔)
 โลหธาตุ ทองแดง มีในอำเภอบุญยืน (อำเภอเวียงสา) จังหวัดน่าน (หน้า ๗๓) พลวง มีในน่าน (หน้า ๗๔)
 เกลือ ที่จังหวัดน่านในมณฑลมหาราษฎร์ มีบ่อเกลือต้องขุดลึกลงไปประมาณ ๖ เมตร ถึง ๑๐ เมตร จึงจะถึงเกลือ วิธีที่จะเอาเกลือนี้ขึ้นมา คือ ขุดบ่อลงไปจนถึงเกลือแล้วตักน้ำเกลือขึ้นมาตากแดดหรือต้มเคี่ยวไปจนแห้งเป็นเกลือ (หน้า ๗๕)
.
 มณฑลและจังหวัด
 มณฑลมหาราษฎร์ อยู่ในภาคเหนือของประเทศสยามถัดมณฑลพิษณุโลกขึ้นไปทางเหนือ แบ่งเป็น ๓ จังหวัด ๑.จังหวัดแพร่ ๒.จังหวัดลำปาง ๓.จังหวัดน่าน
 จังหวัดน่าน อยู่ถัดจังหวัดแพร่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนต้นของแม่น้ำน่าน ณาเขตต์ทิศเหนือและตะวันออกจดเขตต์แดนเมืองหลวงพระบางในการปกครองของฝรั่งเศสซึ่งแต่เดิมเป็นของไทย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๙,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ แยกเป็น ๖ อำเภอ คือ อำเภอเมืองน่าน อำเภอบุญยืน อำเภอบ้านม่วง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอและ ศาลากลางของจังหวัดอยู่ในอำเภอเมืองน่าน ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ห่างจากแพร่ประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร มีพลเมืองประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีพวกชาวเขา เช่น ขมุ ฮ่อ เย้า แม้ว ทิ่น ลื้อ รวมอยู่ด้วยประมาณ ๖๐๐๐ คน พื้นที่ของจังหวัดนี้มีที่ราบน้อย เป็นป่าและภูเขาโดยมาก ป่าไม้สักมีในอำเภอบ้านม่วง มีทางรถไฟของบริษัทป่าไม้เป็นบริษัทชาติอังกฤษ ชื่อ บริษัทแองโกลสยาม ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ตั้งต้นแต่แม่น้ำยมในอำเภอบ้านม่วงไปในป่าของอำเภอเชียงคำ ซึ่งขึ้นจังหวัดเชียงราย สำหรับขนไม้สักในป่าลงแม่น้ำ แร่เหล็กมีที่ตำบลบ้านอวน ในอำเภอปัว แร่เกลือมีที่ตำบลบ่อเกลือในอำเภอปัว แร่ตะกั่วดำ มีที่ตำบลห้วยเกียนในอำเภอนาน้อย แร่ทองแดงมีในอำเภอบุญยืน สินค้าส่งออกที่สำคัญ มี ไม้สัก ไม้กระยาเลย เขา หนัง และยาสูบ
.
เมืองน่านเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในมณฑลพายัพเมืองหนึ่ง บางสมัยเป็นอิสสระ บางสมัยเป็นประเทศราชขึ้นเชียงใหม่ บางสมัยขึ้นเมืองหลวงพระบาง และต่อมามาเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีตลอดจนกรุงเทพฯ นี้. โบราณวัตถุที่ปรากฏอยู่ คือ กำแพงเมืองเก่า มีป้อมอยู่ ๔ มุมเมือง มีวัดเก่าๆ หลายวัด และมีเจ้าเป็นผู้ครองนครอย่างจังหวัดลำปาง  (หน้า ๑๔๖-๑๔๘)
.
จากแพร่ไปน่าน ทางสายนี้ ตอนตั้งแต่อำเภอเมืองแพร่ถึงอำเภอร้องกวาง รถและเกวียนเดินได้ ตอนตั้งแต่อำเภอร้องกวางถึงจังหวัดน่าน ทางเดินลำบาก บางตอนต้องขึ้นเขาลงห้วย รวมระยะทางประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร (หน้า ๒๑๖)
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ กรมตำรา.  ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม.  พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ,  ๒๔๖๘. เข้าถึงได้โดย https://finearts.go.th/chonburilibrary/view/14591-ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม




(จำนวนผู้เข้าชม 1427 ครั้ง)


Messenger