...

หีบพระธรรม วัดดอนไชย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
เรื่อง “หีบพระธรรม วัดดอนไชย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน”
--- หีบพระธรรมวัดดอนไชย ทำจากไม้ มีขนาดกว้าง ๙๐ เซนติเมตร ยาว ๙๑ เซนติเมตร สูง ๒๑๘ เซนติเมตร
มีจารึกบริเวณฝาของหีบพระธรรม จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย จำนวน ๑ ด้าน ๔ บรรทัด ลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ช่วงล่างคอดและผายออกทางด้านบน ฝาสูงทำเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกันสามชั้น ยอดทรงน้ำเต้า ส่วนลำตัวมีภาพลายรดน้ำทั้งสี่ด้าน เขียนภาพรูปเทวดาและยักษ์ มีลายดอกไม้ร่วงและนกเข้ามาประกอบ
--- ความในจารึกที่ปรากฏบริเวณฝาหีบพระธรรม กล่าวถึง การสร้างคัมภีร์ใบลานและหีบพระธรรมของนางบัวทิพย์และบุคคลอีกผู้หนึ่ง
บรรทัดที่ ๑  จุลศัก (ราช) ๑๒๑๑* ตัว ปีมะแม ฉนำกัมโพช ขอมพิสัย เสด็จเข้ามาในเหมันตอุตุ(เดือน)ผลคุณปุณมี พุธวารไถง ไทยเมืองน่านว่า ปีกัดเม็ด เดือน ๕ โหรา (วัน) เพ็ญ เม็ง (ว่า) วัน ๔ (พุธ) ไทย (ว่าวัน) เต่าสี
บรรทัดที่ ๒  ปฐมมูลศรัทธา หมายมี..........................(นาง)บัวทิพย์ ผู้ข้าทั้ง ๒ ก็มีอจลมโนศรัทธา ญาณสัมปยุต...........ติดในสวาขาต..........................ปิฎกทั้ง ๓ คือว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ และวินัยทั้ง ๕ และ...............
บรรทัดที่ ๓  ...........(แปดหมื่นสี่) พันขันธ์ แล ริรังสร้างจ้างเขียนบรมวล แล้วจีดเจียนรักหางยางมุกใหม่ติดพอก ใส่คำแดง แสงเรืองเรื่อ แล้วอจลมโนศรัทธาในหฤทัยหยั่งเชื่อ เพื่อ.......บุพภาคเจตนา จึงมีมธุ ดอก(ไม้)....ไหว้สา มหาครูบาเจ้า ชื่อ....................
บรรทัดที่ ๔ บัณฑิต ประจิตรริจนา แล้ว (ด้วย) สุวรรณรูปารูป ลายดอกเครือวัลย์ แก้วถมตันจรดถี่ รูปเทวบุตร เทวดา ขี่ยักษ์อยู่ภายบน เพื่อไว้เป็นกุศลภายหน้า คือเมืองฟ้า และเนรพานตราบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา ดีหลี เต๊อะ ปตฺตาปุญฺญเม อรหตฺตมคฺคญาณํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ
--- อย่างไรก็ตามจากการอ่านแปลของนักวิชาการพบว่า วันเดือนปีที่จารึกนี้มีประเด็นปัญหา คือ จุลศักราช ๑๒๑๑ ไม่ใช่ ปีมะแม กัดเม็ด แต่เป็นปีระกา กัดเร้า แต่หากเป็น จุลศักราช ๑๒๒๑ จึงจะเป็นปีมะแม กัดเม็ด  
วันที่ ๑๕ เดือนผลคุณ จุลศักราช ๑๒๑๑ เป็นวันอังคาร เปิกสัน
วันที่ ๑๕ เดือนผลคุณ จุลศักราช ๑๒๒๑ เป็นวันอังคาร กัดเร้า  
วันพุธ วันเต่าสี จุลศักราช ๑๒๑๑ ตรงกับ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนมฤคสีระ
วันพุธ วันเต่าสี จุลศักราช ๑๒๒๑ ไม่มี
หากสันนิษฐานว่า ผู้แต่งจารึกนี้เขียนตัวเลข “๑๒๒๑” เป็น “๑๒๑๑” และหมายถึงวันเพ็ญ ในเดือนผลคุณของปี ๑๒๒๑ นั้น และคำนวณวันไม่ถูกต้อง วันเดือนปีในจารึก จะตรงกับวันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๓
--- ปัจจุบันหีบพระธรรมนี้ จัดแสดงอยู่บริเวณโถงด้านหน้า ชั้นบนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.
- ฮันส์ เพนธ์ และคณะ. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๕ : จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน และจารึกเมืองน่านที่น่าสนใจ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๔๔.





(จำนวนผู้เข้าชม 433 ครั้ง)


Messenger