เส้นสายไหมสู่ลายผ้ากับการทอไหมในบทเพลง

 

       “บ้านเฮานั้นมีผู้เฒ่าผู้แก่ เอาว์แมบองประโอนเด้ออ้าย...” 

       ผ่านไปเรียบร้อยแล้วกับ “สาวทอผ้าไหม” บทเพลงที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของดินแดนอีสานใต้ จากละคร “เพลงผ้าฟ้าล้อมดาว” ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับความนิยมจนเกิดกระแสนุ่งผ้าไหมและกลายเป็นสินค้าขายดี แม้กรรมวิธีการทอผ้าจะมีรายละเอียดและซับซ้อนมาก แต่ได้ถูกหยิบมาเล่าเรื่องอีกครั้งในรายการชิงช้าสวรรค์ ๒๐๒๒ ทำให้เกิดความเข้าใจขั้นตอน สอดแทรกการแสดงตั้งแต่สาวไหม ย้อมสี จับฟืม กระตุกกี่ จนกลายเป็นผ้าไหม วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงขอหยิบยกเรื่องราวการรอคอยคนรักของสาวทอผ้า โดยวันเวลาและฤดูกาลผันแปรไปพร้อมกับกรรมวิธีถักทอผ้า แสดงถึงความประณีตที่ต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะรังสรรค์มาเป็นไหมแต่ละเส้น ตั้งแต่เริ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนได้เป็นผืนผ้า มาบอกเล่าจากเนื้อหาของบทเพลง ซึ่งมีการถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ

       “...คืนและวันของชาวบ้านเราไม่เปล่าดาย ทอผ้าไหมคิดลายสไบให้ถ้วนถี่...” 

       รูปแบบของผ้าไหมอีสานใต้ มีเอกลักษณ์สำคัญคือการย้อมผ้าโทนสีส้มแดง หรือสีเอิร์ธโทน (Earth tone) ผูกลวดลายตามเรขาคณิต และใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นผ้าภูอัคนี เป็นผ้าย้อมดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคาร ผ้าซิ่นมัดหมี่ย้อมสีจากครั่งของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายลาวและผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งถือเป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้นำมาตัดเย็บประยุกต์เป็นชุดสำหรับประกอบการแสดงบทเพลงนี้ 

        ความหมายของลายผ้าไม่ได้เจาะจงเพียงบางพื้นที่เท่านั้น แต่กลับหลอมรวมวัฒนธรรมทอผ้าของอีสานใต้ผ่านตัวแทนสำคัญ คือ ผ้าโสร่ง ผ้าโฮล และผ้าไหมหางกระรอก อันเป็นลวดลายผ้าไหมที่กระจายตัวอยู่ในบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ผสานการตกแต่งซิ่นหรือชายผ้าไหมด้วยตีนกระแหนะ ตีนลายขิด หรือตีนซิ่นปะโบล อันมีรายละเอียดพิเศษแตกต่างกันตามกลุ่มชาติพันธุ์

       สำหรับคำว่า “โฮล-จนองโฮล” มาจากภาษาเขมร ใช้เรียกกรรมวิธีทอผ้าไหมชนิดหนึ่ง คล้ายคลึงกันกับผ้าปูมและผ้ามัดหมี่ มีการมัดและย้อมสีเส้นไหม (เส้นพุ่ง) ให้เกิดสีสันและลวดลายก่อน แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนผ้าที่มีลายหลักเป็นเส้นบรรทัด แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร แต่ความนิยมของลวดลายได้แพร่กระจายจนสามารถพบเห็นได้หลายพื้นที่ เช่นเดียวกับผ้าที่นิยมทอจากไหม เรียกว่า “ผ้าโสร่งไหม” มีลักษณะเป็นลายตาหมากรุกหรือลายตารางคล้ายผ้าขาวม้า แต่มีลวดลายห่างและขนาดใหญ่กว่า ทำให้มีลายหลักเป็นลายตารางและแทรกการทอด้วยเทคนิคการนำเส้นไหมสองเส้นมาตีเกลียวควบเข้ากันเรียกว่าไหมลูกลาย มีลักษณะเส้นไหมสลับสีสันคล้ายขนหางกระรอก เทคนิคนี้ยังใช้ในการทอไหมคล้ายผ้าไหมสีเดียว แต่ลวดลายผ้าเหลือบสีเป็นลายเส้นเล็กๆ เรียกว่า “ผ้าไหมหางกระรอก” อันเป็นลวดลายโบราณที่นิยมอยู่ในท้องถิ่นของอีสานใต้  

       “บ้านเฮานั้นมีผู้เฒ่าผู้แก่ เอาว์แมบองประโอน ยังถ่า...” 

       กาลเวลาได้นำพาผ้าไหมกลับมาถูกนำมาเก็บรักษาภายในห้องคลังผ้าของคลังกลางฯ โดยได้ได้รับมอบจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย ผ้าโฮล ๑ ผืน ผ้าโสร่งและผ้าไหมหางกระรอก อย่างละ ๒ ผืน ซึ่ง ‘ผ้าไหมทอ’ อัตลักษณ์ของชาวอีสานยังคงมีลมหายใจ ไม่ได้เก่าไปตามกาลเวลาและปรากฏตามงานประเพณี ไม่ว่าจะเป็นแซนโฎนตา (วันสารทใหญ่) ประเพณีการไหว้ผี/บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งต้องจัดเตรียมเครื่องแต่งกาย ซิ่นไหม และผ้าโสร่ง สำหรับใช้ในการประกอบในพิธีกรรม งานมงคลอย่างงานแต่งงาน หรือการละเล่นลูดอันเร/เรือมอันเร ที่ยังคงแต่งกายตามวัฒนธรรมของอีสานใต้ ทั้งนี้ยังถูกนำมาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ของเจ้านายในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางโอกาสอีกด้วย

 

          หมายเหตุ : คำว่า “เอาว์แมบองประโอน” แปลว่า พ่อแม่พี่น้อง

          - เอาว์... มาจากคำว่า ឪពុក (เอาว์ปุก/เอิวปุ๊ก) แปลว่า พ่อ (ឪពុក เป็นภาษาเขียนไม่ใช่ภาษาพูด)

          - แม... (មែ) มาจากคำว่า ម្ដាយ (มฺดาย) แปลว่า แม่ (ម្ដាយ เป็นภาษาเขียนไม่ใช่ภาษาพูด)

          - บอง... มาจากคำว่า បង (บอง) แปลว่า พี่

          - ประโอน... มาจากคำว่า ប្អូន (ปะโอน/บฺโอน?) แปลว่า น้อง

 

       ผยแพร่/เทคนิคภาพโดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 383 ครั้ง)