ก่อนจะมีลีลาอย่าง “ศิลป”





         เวียนบรรจบครบรอบ ๑๓๐ ปี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดประติมากรชาวอิตาลีสัญชาติไทย ผู้มีอนุสาวรีย์ตั้งตระหง่านท่ามกลางสถานศึกษา อดีตข้าราชการกรมศิลปากร และปฐมคณบดีคณะจิตรกรรมฯ "ศาตราจารย์ศิลป พีระศรี" อาจารย์ฝรั่งผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะร่วมสมัย ครูผู้ปูรากฐานความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในไทย ตลอดจนมีความเข้าใจงานศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และ “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พระพุทธรูปลีลาที่สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพุทธศาสนาอายุ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งถือเป็นการผสมผสานเอกลักษณ์ทางศิลปะไทยร่วมกับแนวคิดสัจนิยมของตะวันตกอย่างลงตัว นับจุดเริ่มต้นของศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง เพจคลังกลางฯ วันนี้ จึงขอทบทวนเส้นทางจากก้าวแรกสู่ความงามที่ตกผลึก อันเป็นแรงบันดาลใจ ก่อนจะมี(พระ)ลีลาอย่าง “ศิลป” 
       ‘พระลีลา’ หรืออิริยาบถลีลาของพระพุทธรูปนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย มีเพียงหลักฐานการสร้างประติมากรรมพระพุทธรูปยืนตริภังค์ เอียงพระศอ และพระบาทเหลื่อมกันจนเหมือนเคลื่อนไหวคล้ายพระพุทธรูปลีลา ดังตัวอย่างภาพสลักที่ถ้ำอชันตา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย กระทั่งเมื่อเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงปรากฏการประดิษฐ์อิริยาบถนี้ขึ้นในศิลปะพม่าหลายสมัย มีพัฒนาการจากเหลื่อมพระบาท เขย่งพระบาท จนกลายเป็นอิริยาบถลีลาที่ลงตัวในศิลปะสุโขทัย แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหว ทั้งพระบาทที่ก้าวเดิน ขอบจีวรที่พลิ้วลม รวมถึงลักษณะการทิ้งพระหัตถ์ลง คล้ายอาการแกว่งแขนอย่างมนุษย์ ที่เรียกว่า “โลลมุทรา” โดยนิยมนำมาแสดงประกอบพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ (ดูเพิ่มเติมใน มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู ของศาสตราจารย์ เชษฐ์ ติงสัญชลี) ซึ่งความงามข้างต้นได้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบพระพุทธรูปองค์นี้ ดังที่อาจารย์ศิลปอธิบายพุทธลักษณะ อันแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในพุทธศิลป์เป็นอย่างดีว่า
       “เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปปางลีลาอันประณีตงดงาม เราจะบังเกิดความรู้สึกเหมือนหนึ่งว่าพระพุทธองค์กำลังเสด็จดำเนินไปเบื้องหน้าอย่างแช่มช้อยพร้อมด้วยพระอาการกรีดของนิ้วพระหัตถ์ ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ของ ‘พระธรรมจักร’ ที่พระบรมศาสดาทรงมุ่งพระทัยประกาศพระธรรมคำสั่งสอน”
       อย่างไรก็ดี แม้พระพุทธรูปองค์นี้ถูกออกแบบแล้วเสร็จก่อนปี ๒๕๐๐ แต่งานหล่อปั้นกลับหยุดชะงักลง ตรงกับช่วงเวลาที่อาจารย์ศิลปป่วยและถึงแก่กรรมลงในปี ๒๕๐๕ พระพุทธรูปองค์นี้จึงถูกสร้างขึ้นต่อโดยศิษย์ของท่านแล้วเสร็จทันสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๕) พระลีลา... จึงถือเป็นงานชิ้นส่งท้ายที่ได้ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด อันเป็นผลสำเร็จของการศึกษาศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้งของศาตราจารย์ศิลป พีระศรี 
 
 
         เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / ภาพโดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 303 ครั้ง)