To Top

พิพิธภัณฑ์คัดสรร

ของดี ของเด่น ของดัง ของสำคัญและเรื่องราว ที่พิพิธภัณฑ์คัดสรรมานำเสนอ

โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งอยู่ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมและสังคมของชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี โดยมีภาชนะดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ในการเขียนสีแดงบนพื้นสีนวลซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้โลหะที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก

 

ถ้วยน้ำชาพร้อมจานรอง ประดับตราประจำพระองค์ทูนกระหม่อมบริพัตร

 

ถ้วยน้ำชาพร้อมจานรอง ประดับตราประจำพระองค์ทูนกระหม่อมบริพัตร

ถ้วยน้ำชาพร้อมจานรองขอบทองเขียนลายสีเขียว ประดับตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูนกระหม่อมบริพัตร เจ้าของวังบางขุนพรหม ถ้วยน้ำชาชุดนี้เป็นมรดกจากต้นราชสกุลบริพัตร​ และเป็นหนึ่งในหลักฐานของความนิยมเครื่องถ้วยแบบตะวันตกที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในราชสำนักสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น และรับอารยธรรมของชาติตะวันตกมาปรับใช้ในหลายด้าน รวมถึงวัฒนธรรมการกินแบบตะวันตก

 

ตลับงา

 

ตลับงา

ตลับงาช้าง เป็นหนึ่งในของสะสมที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยชุดตลับงาทรงลูกพลับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ชุดนี้ มีทั้งสิ้น 20 ตลับ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดให้ช่างกลึงงาช้าง ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นตลับงารูปลูกพลับขนาดไล่เรียงกันตั้งแต่ใบใหญ่จนถึงใบเล็ก และพระราชทานนามตลับงาเป็นชื่อที่คล้องจองไล่เรียงตามขนาด โดยทั้งหมดเป็นชื่อนก

 

หอเขียนวั​งสวนผักกาด

 

หอเขียนวั​งสวนผักกาด

อาคารไม้ทรงไทย​ อายุราว​ต้นพุทธ​ศตวรรษ​ที่​ 24 ภายในตกแต่งด้วยภาพลายรดน้ำเรื่องพุทธประวัติ​ ​รามเกียรติ์​ และภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต​อย่างงดงาม ซึ่งเสด็จในกรมฯ และคุณท่าน ทรงกระทำผาติกรรมไถ่ถอน จากวัดบ้านกลิ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา​ พร้อมบูรณะและย้ายมาเก็บรักษาที่วังสวนผักกาดแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502

 

ประติมากรรมพระอุมา

 

ประติมากรรมพระอุมา

ประติมากรรมเทวสตรี สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าคือ พระอุมา​ ศิลปะลพบุรี​ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือราว 1,400 ปีมาแล้ว​ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักฐานด้านประติมากรรมขอมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในดินแดนไทย