ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เวียงกุมกามล่มสลาย
จากสาเหตุการย้ายศูนย์กลางเมืองเนื่องจากภาวะน้ำท่วมนั้น แม้จะไม่ได้ทำให้เวียงกุมกามล่มสลาย หากแต่เป็นการลดบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของเวียงกุมกามลงภายหลังการย้ายเมืองหลวงไปจากเวียงกุมกาม เวียงกุมกามยังคงมีการตั้งถิ่นฐานอย่างเดิม หากแต่คงบทบาทเพียงเป็นเมืองบริวารที่ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ให้กับเมืองเชียงใหม่ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาให้กับอาณาจักร และสถานที่พักผ่อนของบรมวงศานุวงศ์ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่าน้ำท่วมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ร่วมกับปัจจัยในการที่จะทำให้เวียงกุมกามล่มสลาย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เวียงกุมกามล่มสลายเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน การทิ้งร้างไปของเมืองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ณ ช่วงเวลาหนึ่งหากแต่ใช้ระยะยาวนานก่อนที่เมืองจะถูกทิ้งร้างไป
ปัจจัยประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงอำนาจบทบาทและฐานะของเมืองเป็นเพียงเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่และในที่สุดเป็นเพียงชุมชนชานเมืองหลวงเพื่อกิจกรรมทางพุทธศาสนา
ประการต่อมา คือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของแม่น้ำปิง ทำให้เวียงกุมกามไม่มีศักยภาพทางการสัญจรและการค้าเพียงพอที่จะยังคงฐานะความสำคัญอีกต่อไป เนื่องด้วยแม่น้ำปิงไหลผ่านที่ราบโล่งซึ่งลาดต่ำ ส่งผลให้น้ำปิงมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินได้ ซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่กล่าวว่าแม่น้ำปิงเคยเปลี่ยนทางเดินอย่างน้อย ๓ ครั้งด้วยกัน
ประการสุดท้าย คือ ภัยจากสงคราม ที่เวียงกุมกามมักถูกโจมตีและมีการตั้งทัพของกลุ่มผู้รุกราน มีการกวาดต้อนคนล้านนาไปเป็นเชลยที่เมืองพม่า ตลอดจนการมีสงครามอย่างต่อเนื่องในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงทำให้เวียงกุมกามไม่มีเวลาที่จะฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและถูกทิ้งร้าง ผุพังไปตามกาลเวลา และภายหลังการทิ้งร้างของเมืองได้เกิดน้ำท่วมบนพื้นที่ของเวียงกุมกามหลายครั้งทำให้
เวียงกุมกามทั้งหมดถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินราว ๑.๕ - ๒.๐ เมตร
อ้างอิง : เมืองเชียงใหม่ ศิลปะ สถาปัตยกรรมและความเชื่อ โครงการรวบรวมผลงานวิชาการ ลำดับที่ ๑ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(จำนวนผู้เข้าชม 1896 ครั้ง)