...

๒๐ แหล่งโบราณสถานของจังหวัดตรัง
๒๐ แหล่งโบราณสถานในจังหวัดตรัง

ภาพโดย : ธนาศักดิ์ ว่องธนาพัฒน์

ภูเขาหลักจัน

ที่ตั้ง บ้านเขาโหรง ม.๑๒ ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ เชื่อกันว่าสร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธไสยาสน์ที่วัดภูเขาทอง  มีผู้พบเครื่องมือหิน เศษภาชนะดินเผา โบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหิน มีทั้งหินลับ ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและผิวเรียบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พบโครงกระดูกมนุษย์ในถ้ำของภูเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ในเทือกเขาเดียวกันกับภูเขาหลักจัน แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษชาวตรังมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และกระจายอยู่ทั่วไปตามถ้ำในภูเขาแถบนี้

 

ภูเขาชุมทอง (วัดภูเขาทอง)

          ที่ตั้ง ม.๑ ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ มีเรื่องเล่าว่าพระพุทธรูปสร้างขึ้นเมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช หมู่พุทธบริษัทที่ไปไม่ทันได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้ใต้เพิงผาและสร้างพระพุทธรูปปิดทับ ในขณะที่บางกลุ่มกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่นางเลือดขาวสร้างไว้ องค์พระยาว ๙ เมตร ฝ่าพระบาทมีลวดลายนูนคล้ายดอกบัว พระเศียรทรงเทริดมโนห์รา มีผู้พบโครงกระดูกใต้ฐานพระพุทธรูปอายุมากกว่า ๓,๐๐๐ ปี

 

วัดวิหาร (วัดคีรีวิหาร)

          ที่ตั้ง บ้านหาน ม.๗ ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ กล่าวกันว่ามีพระพุทธรูปที่สร้างร่วมสมัยกับพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือพระบรรทม ยาว ๑๒ เมตร และที่หน้าถ้ำมีพระพุทธรูปปางสมาธิจำนวนมาก มีพระพิมพ์ดินดิบในถ้ำดังความปรากฏในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ ปัจจุบันถ้ำคีรีวิหารเป็นส่วนหนึ่งของวัดคีรีวิหาร ซึ่งก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๔

 

ภูเขาสาย

          ที่ตั้ง ม.๓ ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ เป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ซ้อนกันหลายยุคหลายสมัย เพราะพบสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือหิน เศษหม้อสามขา เศษเครื่องปั้นดินเผากระจัดกระจายอยู่หลายถ้ำ เป็นหลักฐานการอยู่อาศัยของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งยังพบพระพิมพ์ดินดิบเป็นจำนวนมากภายในถ้ำด้านตะวันออก ซึ่งเป็นหลักฐานว่าในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ มีผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานเดินทางมาจากประเทศอินเดีย ได้ใช้แม่น้ำตรังเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรและแวะมาพักในชุมชนบริเวณนี้

 

วัดถ้ำหรือถ้ำพระ (วัดถ้ำพระพุทธ)

          ที่ตั้ง เลขที่ ๕/๑ บ้านถ้ำพระ ม.๖ ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘  มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ตรงเชิงผาเบื้องสูงเหนือระดับสายตา หันพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานเป็นช่องรองรับด้วยเศียรช้างปูนปั้น เป็นรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า ช้างแบก รวม ๙ ช่อง ส่วนด้านปลายพระบาทมีพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพระบริวาร และมีพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ อีกองค์หนึ่งที่เล่ากันว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้าง แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าในสมัยที่ยังทำศึกกับพม่า ผู้คนที่หนีมาซุกซ่อนอยู่ตามป่าเขาได้สร้างพระพุทธรูปและซ่อนเครื่องถ้วยชามไว้

 

ถ้ำตรา

          ที่ตั้ง บ้านปากแจ่ม ม.๗ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง  ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘  เป็นถ้ำอยู่ในเขาหินปูนลูกหนึ่งชื่อเขาน้ำพราย สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำตรา เพราะว่าภายในถ้ำพบภาพเขียนสี แต่ผลงานที่ปรากฏไม่ค่อยประณีต ภาพมีลักษณะคล้ายตราประทับรูปวงกลม ซ้อนกัน ๒ วง ขนาดประมาณ ๔๐ ซ.ม. เขียนเป็นแบบเส้นทึบ ภายในวงกลมมีลวดลาย ปัจจุบันตราสัญลักษณ์นี้มีสภาพที่ลบเลือน เนื่องจากภาพอยู่ตรงตำแหน่งที่แสงแดดส่องผนังถ้ำเป็นเวลายาวนาน และชาวบ้านไปเช็ดถูด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่รู้ในคุณค่า สันนิษฐานว่า มนุษย์สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเพิงพักชั่วคราวในการล่าสัตว์ ต่อมาคงเป็นที่ทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับตราบนผนังถ้ำ และอาจเกี่ยวข้องกับลำภูรา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่คลองลำภูราไหลผ่าน

 

สถานีรถไฟกันตัง

          ที่ตั้ง  ต.กันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง  ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙  สถานีรถไฟกันตัง สร้างในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เปิดเดินรถเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยเปิดการเดินรถจากสถานีรถไฟกันตังไปสถานีรถไฟห้วยยอดเป็นลำดับแรก ภายหลังจึงต่อไปยังสถานีทุ่งสง เป็นทั้งรถโดยสารและรับส่งสินค้ากับต่างประเทศ จนกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งของเมืองต่าง ๆ ในแถบฝั่งอันดามัน และเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศ

 

เขาปินะ

          ที่ตั้ง ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง  ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙ มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ภายในมีถ้ำเป็นจำนวนมาก จัดเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ เพราะภายในถ้ำพบโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผา เช่น หม้อสามขาและเครื่องมือหิน เป็นต้น  มีลักษณะเด่น คือ ถ้ำใหญ่น้อยสลับซับซ้อน ลดหลั่นกันไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ลงพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำด้วย

 

ตำหนักโปร่งฤทัย

          ที่ตั้ง ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง  ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙  ตำหนักโปร่งฤทัยสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อใช้เป็นที่พักระหว่างทางไปสู่น้ำตก และเป็นเรือนรับรองที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ และได้รับพระราชทานนาม “ตำหนักโปร่งฤทัย” ในครั้งนั้น ต่อมาเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ก็เสด็จมาประทับแรมที่นี่อีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ และใช้เป็นพลับพลารับเสด็จเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จมาทอดพระเนตรน้ำตกกระช่องเมื่อครั้งเสด็จมณฑลภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๗๑

 

วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ)

          ที่ตั้ง เลขที่ ๑๘ บ้านโคกหล่อ ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒  วัดนิคมประทีปสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓  เดิมชื่อวัดโคกหล่อ เพราะตั้งอยู่บนดินแหลมยื่นออกไปจากที่ดินของชาวบ้านซึ่งเป็นโคกมีป่าไม้หล่อเป็นจำนวนมาก พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม สภาพแวดล้อมมีหมู่บ้าน   ลำคลอง ที่นาและถนนรอบวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย พระอุโบสถโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีโครงหลังคาทรงไทยพื้นถิ่นภาคใต้ลดหลั่น ๓ ชั้น มีกำแพงล้อมรอบตกแต่งหน้าจั่วและหลังคาด้วยลายปูนปั้นแบบโบราณ ประตูและหน้าต่างเป็นบานไม้ ทาสีแดง พระประธานในอุโบสถพระเพลา กว้าง ๑ เมตร ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐

 

วัดกะพังสุรินทร์

          ที่ตั้ง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐  เป็นที่ดินบริจาคโดยเจ้าเส คหบดีในละแวกนั้น เดิมชื่อ วัดกะพัง เนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ชายเนินเตี้ย ๆ ลาดเอียงจากทิศเหนือไปสู่ทุ่งนาอยู่ใกล้หนองน้ำ ที่เรียกว่า “สระกะพัง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดกะพังสุรินทร์ ตามชื่อพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ผู้ปรับปรุงสระกะพังให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ อุโบสถที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเป็นสถาปัตยกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น โครงสร้างเป็นเสาไม้ ฝาก่อด้วยอิฐโบกปูน หลังคา ๒ ชั้น พระประธานในอุโบสถนำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙  วัดกะพังสุรินทร์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

 

วัดจอมไตร

          ที่ตั้ง ม.๗ บ้านเจาะ ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ เดิมชื่อ วัดเจาะหรือกระเจาะ สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๓ และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดกระเจาะเป็นวัดจอมไตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕  สิ่งสำคัญภายในวัด คือ อุโบสถซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นสถาปัตยกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคา ๓ ชั้น เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด ในอุโบสถมีพระพุทธรูป ชื่อ พระพุทธจอมไตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นพระพุทธรูปที่ทำพิธีหล่อด้วยโลหะองค์แรกของจังหวัดตรัง

 

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส

          ที่ตั้ง ต.กันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น โดยให้ชื่อว่า “วัดกันตัง”ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ และประทับที่วัดกันตัง เห็นว่าเป็นวัดที่มีภูมิประเทศเหมาะสมดี จึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดตรังคภูมิพุทธาวาส” พระประธานในพระอุโบสถเป็นหินอ่อนแกะสลัก หน้าตักกว้าง ๔๓ นิ้ว ปางมารวิชัย ซึ่งพระยารัษฎาฯ นำมาจากประเทศพม่า พร้อมกับพระสาวก ๒ องค์ มีช้างและสิงห์อย่างละคู่

 

สโมสรข้าราชการจังหวัดตรัง

          ที่ตั้ง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ สโมสรหลังนี้สันนิษฐานว่าคงจะก่อสร้างหลัง พ.ศ. ๒๔๗๑ จากเอกสารแบบแปลน Club House In Trang ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘ เพื่อใช้เป็นสโมสรข้าราชการ ต่อมาได้ถูกทิ้งว่างเปล่าอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ได้ใช้สโมสรหลังนี้เป็นที่ทำการของสำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ใช้เป็นที่เก็บเอกสารและเป็นสำนักงานของศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชน และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในขณะนั้น ได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงและอนุญาตให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง เข้าไปใช้อาคารเป็นพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP จนถึงปัจจุบัน

 

วัดมงคลสถาน

          ที่ตั้ง ต.ละมอ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เดิมชื่อว่าวัดละมอ โดยตั้งตามชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดมงคลสถานหลังจากได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๕  อุโบสถที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๘ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องแสงเหนือบานประตูและที่หน้าต่างเป็นรูปดวงอาทิตย์มีรัศมีเป็นแฉก ๆ เป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนช่องแสงตลอดแนวของฝาผนังทุกด้านเป็นรูปวงกลมฉลุลายเหมือนกลีบดอกไม้ หลังคาของอุโบสถลดหลั่นลงมา ดูเรียบง่ายเพราะไม่มีการตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์แต่อย่างใด ปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน เพราะวัดมีอุโบสถใหม่อีก ๑ หลัง 

 

วิหารคริสตจักรตรัง

          ที่ตั้ง ๒๕ ถ.ห้วยยอด ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๕ (พ.ศ. ๒๔๕๘) ตัวโบสถ์เดิมสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก ต่อมาปี ค.ศ. ๑๙๘๕ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ได้สร้างหลังใหม่ขึ้นเป็นหลังคามุงกระเบื้องสังกะสี และต่อเติมหอระฆังให้สูงขึ้น ชาวบ้านเรียกวิหารนี้ว่า “โบสถ์คริสต์” เป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดตรังและเป็นหลักฐานการทำงานของมิชชันนารีคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เมื่อ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา

 

พระปรมาภิไธยย่อ ปปร. ภปร. และพระนามาภิไธยย่อ สก.

          ที่ตั้ง ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เป็นสถานที่จารึกพระปรมาภิไธยย่ออยู่ที่ก้อนหินใกล้กับยอดน้ำตกโตนปลิว ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นสูงสุด และเป็นหลักฐานการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดตรัง เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๗๑ ส่วนพระองค์ที่ ๒ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินน้ำตก เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๒ และทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาธิไธยย่อ สก. ไว้บนหน้าผาน้ำตกเดียวกับพระปรมาภิไธยย่อ ปปร.  โบราณสถานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง

 

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

          ที่ตั้ง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ตั้งอยู่บนเนินที่ชื่อควนคีรี สันนิษฐานว่าสร้างช่วงเดียวกับศาลากลางจังหวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งศาลากลางเปิดทำการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๓ ในสมัยของพระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในสมัยนั้น แต่บางกระแสกล่าวว่าสร้างในสมัยพระยาอาณาจักรบริบาล (สมบุญ สวรรคทัต) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๖ จวนแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๒

 

บ้านตระกูลคีรีรัตน์

          ที่ตั้ง ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ เป็นบ้านของนายกีวด คีรีรัตน์ คหบดีชาว ต.ทุ่งค่าย เป็นอาคารเรือนไม้ ๒ ชั้น สถาปัตยกรรมรูปแบบชิโนโปรตุกีส อาคารล้อมรอบด้วยกำแพงทั้ง ๔ ด้าน โครงสร้างอาคารก่ออิฐสอปูน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก มีลายฉลุไม้แบบจีนและแบบไทยมุสลิม หลังคาจั่วมนิลา มุงกระเบื้องว่าว โครงหลังคาเป็นไม้พะยอมทอง ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องกว้างพื้นปูนขัดมัน ชั้นบนปูพื้นด้วยไม้ตะเคียนทอง กั้นห้องด้วยไม้ทัง ใช้ลายฉลุไม้แบบจีนตกแต่งช่องลม อาคารหลังนี้สร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๔๙๐ รวมเวลาสร้างทั้งสิ้น ๑ ปี ๗ เดือน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านหลังนี้เป็นเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท

 

เขาโพธิ์โทน

          ที่ตั้ง ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ เดิมเรียกว่า “เขาสำเภาเทิน” เพราะเป็นที่พบโครงเรือสำเภาโบราณตรงสระน้ำบริเวณติดกับเขา ภายในเขามีถ้ำที่ชาวบ้านรู้จัก คือ ถ้ำต่ำและถ้ำสูง แต่ละถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม พบเศษภาชนะดินเผา เนื้อดินธรรมดาลายเชือกทาบ และเศษกระดูกกวาง ที่ผนังถ้ำพบหอยโข่ง

(จำนวนผู้เข้าชม 4282 ครั้ง)