พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับข้าว ศาลปู่ตา ศาลตายาย



     พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับข้าว : ศาลปู่ตา ศาลตายาย

     ในช่วงเดือนพฤษภาคมของประเทศไทย หรือเดือน ๖ นั้น จะเป็นช่วงเข้าฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาไทยรอคอยที่จะเริ่มการทำนา ในเดือนนี้มีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา 

     ในประเทศไทยนั้นพระมหากษัตริย์ให้ความสำคัญและให้คุณค่าแก่การเกษตรกรรมเสมอมา โดยเฉพาะการปลูกข้าว ดังจะเห็นได้จากการพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 

   

      พิธีกรรมข้าวมีความสำคัญต่อชาวนาไทยมาก เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตที่ทำมาหาเลี้ยงชีพหลัก โดยจะแบ่งตามลำดับการเพาะปลูกข้าวเป็น ๔ ช่วง คือ พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก พิธีกรรมช่วงเพาะปลูก พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา และพิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว เฉลิมฉลองผลผลิตที่ได้จากการทำนามาตลอดทั้งปี

     ในบทความนี้จะกล่าวถึงพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้มีความสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์ และความปลอดภัยจากอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับการเริ่มต้นทำนา


 

   “ศาลปู่ตา ศาลตายาย” เป็นผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่มีความเชื่อว่าดวงวิญญาณยังห่วงลูกหลาน จึงคอยดูแลลูกหลานในหมู่บ้านและชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และคอยปกปักรักษาดูแลทั้งผู้คน สัตว์ และพืชพรรณธัญญาหารในหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนได้อยู่รอดแคล้วคลาดปลอดภัยภยันตราย และประสพแต่ความสุข ความอุดมสมบูรณ์


ศาลปู่ตา กับถุงเมล็ดพันธุ์ข้าวเตรียมปลูกลงนา

      ศาลปู่ตา ศาลตายายเป็นเหมือนศาลเจ้าเล็ก ๆ ลักษณะเป็นบ้านยกพื้นเสาสูง สร้างด้วยไม้ มุงหลังคา มีลานด้านหน้า ด้านในมีโถงโล่ง ผนังกั้นสามด้าน ด้านข้างทั้งสองข้าง และด้านหลัง หรืออาจจะไม่มีผนังกั้น แต่โดยทั่วไปส่วนมากแล้วจะมีผนังลักษณะคล้ายเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ภายในศาลอาจจะมีหรือไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ หากมี ก็จะเป็นตัวแทนหรือสิ่งแทนตั้งอยู่ภายในศาล เช่น รูปปั้นตายาย ในกรณีของศาลปู่ตาที่อำเภอบางปลาม้า พื้นที่ไปสำรวจหลังนี้ มีแผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวปลายโค้งมนด้านหนึ่งตั้งขึ้น มีรอยของการเขียนภาพลงสีและปิดทอง แต่ภาพเลือนลางมาก เห็นเพียงเส้นสีบางส่วน


สภาพพื้นที่ตั้งศาลปู่ตา ใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ท้องนา เงียบสงบ ร่มรื่น อ.บางปลาม้า จงสุพรรณบุรี

      การเลือกพื้นที่ตั้งของศาลปู่ตา หรือศาลตายาย (ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ที่กล่าวถึงในตอนปฏิทินชาวนา เดือนพฤษภาคม) จะเลือกทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาผืนใหญ่ เป็นสถานที่ที่เงียบสงบ ร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ หมายถึงการเป็นตัวแทนแห่งความสงบ ร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ เป็นสิริมงคลแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน

 

      เมื่อถึงเดือน ๖ หรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีการบวงสรวงไหว้ศาล มีการเซ่นไหว้ด้วยของกินต่าง ๆ ดอกไม้ พวงมาลัย ซึ่งขั้นตอนการทำพิธีกรรมจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่โดยหลักแล้วจะเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษผู้ปกปักรักษาคนในชุมชนนั้น ๆ เพื่อให้การทำนาหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออื่น ๆ ให้ได้ผลผลิตดี อุดมสมบูรณ์ แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ให้การดำเนินวิถีชีวิตในการทำนาหรืองานต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น

    นางสาวภัทรา เชาว์ปรัชญากุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี เรียบเรียงข้อมูล ภาพประกอบและการสัมภาษณ์ (ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ประสงค์ให้ระบุนาม)

    ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

- สัมภาษณ์ชาวนาและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓

- หนังสือ วัฒนธรรมข้าว, เอี่ยม ทองดี ผู้เขียน, ๒๕๓๗

- หนังสือ ข้าว วัฒนธรรมแห่งชีวิต, ๒๕๔๑

- หนังสือ ข้าวไพร่ - ข้าวเจ้าของชาวสยาม, สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), ๒๕๓๑

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุพรรณบุรี

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดปทุมธานี

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนนทบุรี

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดขอนแก่น

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยโสธร

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพัทลุง

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครศรีธรรมราช

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดแพร่

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน

- หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดเชียงราย

(จำนวนผู้เข้าชม 8964 ครั้ง)