...

ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก


ชื่อวัตถุ ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก

ทะเบียน ๒๗/๒๘๙/๒๕๓๒

อายุสมัย ๒๐๐ปีก่อนพุทธกาล -พุทธศตวรรษที่ ๕ (๒,๑๐๐-๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว)

วัสดุ สำริด

ประวัติ ไม่ปรากฏประวัติเดิม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง รับมาจากคลังพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก”

ชิ้นส่วนหน้ากลองโหระทึกมีสถาพไม่สมบูรณ์ บนหน้ากลองมีลวดลายต่างๆ มีลายพระอาทิตย์อยู่ตรงกลาง และลายอื่นๆ อาทิ ลายเรขาคณิต อาคารบ้านเรือน ลายสัตว์ อาทิ เสือ และนก บนหน้ากลองยังมีประติมากรรมลอยตัวเป็นรูปหอยติดอยู่อีกด้วย

กลองโหระทึก หมายถึง กลองที่ทำจากโลหะที่ผสมด้วยทองแดง ดีบุก และตะกั่ว สำหรับกลองมโหระทึกชิ้นนี้เป็นกลองที่พบมากในวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เจริญอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราวก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒ – พุทธศตวรรษที่ ๗ (๑,๙๐๐ - ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว) และยังพบมากในทางตอนใต้ของประเทศจีนอีกด้วย ในประเทศเวียดนามได้พบหลักฐานการใช้กลองมโหระทึกขนาดเล็กเป็นเครื่องอุทิศให้กับคนตาย ส่วนกลองขนาดใหญ่มีการศึกษาตีความจากลวดลายว่าอาจใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเฉลิมฉลอง และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

กลองมโหระทึกเป็นสิ่งของล้ำค่าในวัฒนธรรมดองซอน ของเวียดนาม ทั้งนี้ ได้พบกลองมโหระทึกกระจายอยู่ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทยและในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งพบกลองมโหระทึกแบบ เฮเกอร์ ๑ โดยพบในแหล่งโบราณคดีที่เจริญอยู่ในช่วงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๓ – ๙ (๑,๗๐๐ – ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว) โดยพบมากในฝั่งอ่าวไทยที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ส่วนฝั่งอันดามันพบที่แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (คลองท่อม) จังหวัดกระบี่ ซึ่งอาจจะเป็นชิ้นส่วนกบที่ติดอยู่บนหน้ากลองมโหระทึก

ชิ้นส่วนหน้ากลองมโหระทึกชิ้นนี้ไม่ปรากฏแหล่งที่มา แต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีโดยเฉพาะลาดลายบนหน้ากลองซึ่งมีรูปบ้านเรือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงอาคารหรือที่พักอาศัยของคนในสมัยก่อนเมื่อ ๑,๙๐๐ - ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบที่พักของผู้คนในวัฒนธรรมดองซอนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ผลิตกลองมโหระทึก ทั้งนี้ ได้พบหลักฐานการผลิตกลองมโหระทึกที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นข้อมูลการค้นพบใหม่ที่น่าสนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

- กรมศิลปากร.ศัพทานุกรมโบราณคดี.กรุงเทพ : บริษัท รุ่งศิล์ปการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๕๐.

- เขมชาติ เทพไชย.“กลองมโหระทึก : ที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๔๒.

- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, “เขาสามแก้ว : ชุมชนโบราณ” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑.กรุงเทพ : สถาบันทักษิณคดี,๒๕๒๙: ๓๘๘ - ๓๙๖.

-เมธินี จิระวัฒนา.กลองมโหระทึกในประเทศไทย.กรุงเทพ : บริษัท อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป จำกัด , ๒๕๕๐.

- Tingley, N.. Art of ancient Viet Nam :Fron river plain to open sea. Germany : E&B Engelhardt und Bauer, ๒๐๑๐.

- สุกัญญา เบาเนิด. หลักฐานสำคัญจากแหล่งโบราณคดีเนินหนองหอ จ.มุกดาหาร. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม ๒๕๖๐, จาก http://www.finearts.go.th

(จำนวนผู้เข้าชม 814 ครั้ง)