...

ชามลายน้ำทอง(เครื่องถ้วย)

ชื่อวัตถุ ชามลายน้ำทอง (เครื่องถ้วย)

ทะเบียน ๒๗/๔๗๑/๒๕๓๒

อายุสมัย รัตนโกสินทร์

วัสดุ กระเบื้อง

ประวัติที่มา เป็นมรดกตกทอด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ได้รับมอบจากนายส่ามเต่ และนางฉ้ายกิ๋ม แซ่อ๋อง พร้อมบุตรและธิดา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๒

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ชามลายน้ำทอง” (เครื่องถ้วย)

เครื่องถ้วยลายน้ำทองใบนี้ เป็นภาชนะทรงชามปากกว้าง ส่วนปากทาด้วยสีทอง ใต้ขอบปากตกแต่งเป็นลายยู่อี่ (Ju-I) ด้วยสีเหลืองและชมพู ยู่อี่ หมายถึง ความสมปรารถนาในทุกสิ่งที่ประสงค์ และมีอายุยืนนาน ลำตัวตกแต่งด้วยรูปดอกไม้สีชมพู น้ำเงิน และเหลือง มีใบไม้เป็นสีเขียว ตัวชามมีสีพื้นเป็นสีส้ม และมีหู ๔ หู เป็นสีทอง

เครื่องถ้วยลายน้ำทองใบนี้เป็นหนึ่งใน “เครื่องถ้วยนนยา” (Nyonya Wares)คำว่า นนยา (Nyonya) เป็นคำภาษาชวาที่ยืมมาจากคำว่า “dana”ซึ่งเป็นภาษาดัชต์ หมายถึง ผู้หญิงต่างประเทศแต่งงาน ต่อมาใช้เรียกกลุ่มลูกครึ่งจีนกับมลายูที่มีวัฒนธรรมผสมผสานและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่เรียกว่า “เปอรานากัน” แปลว่า “เกิดที่นี่” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อาศัยในแถบประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ส่วนในภูเก็ตเรียกคนที่มีเชื้อสายจีนผสมกับพื้นเมืองว่า “บาบ๋า”

“เครื่องถ้วยนนยา” คือ เครื่องถ้วยลงยาสีบนเคลือบ เครื่องถ้วยชนิดนี้มีราคาที่แพง เนื่องจากมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากและมีการเผาหลายครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกต้องเผาด้วยอุณภูมิที่ต่ำ เรียกว่า “เผาดิบ” จากนั้นนำไปชุบน้ำเคลือบแล้วเผาอีกครั้งด้วยอุณภูมิที่สูงขึ้นแล้วจึงได้ภาชนะเคลือบสีขาวแล้วจึงนำไปลงยาสี “การลงยา” หมายถึง การนำน้ำเคลือบมาผสมกับน้ำมันการบูรซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติต่างๆ คือ ทำให้สีแห้งเร็ว สามารถละลายตัวสีให้มีความข้นพอที่จะทำให้ตัวสีติดกับผิวเคลือบ สีที่ติดบนผิวภาชนะจะสดใส มีความหนา และแข็งตัวง่ายเมื่อถูกอากาศ แล้วจึงเผาอีกครั้ง และหากมีการลงสีทองต้องมีการเผาครั้งสุดท้ายในอุณภูมิที่ต่ำกว่า ลายที่นิยมใช้ตกแต่งบนเครื่องถ้วยนนยา เช่น ลายดอกไม้ นก เครื่องถ้วยนนยามีรูปทรงต่างๆ เช่น จาน ชาม โถ ช้อนกลาง แจกัน พาน กระถางต้นไม้ และกระถามธูป เป็นต้น

เครื่องถ้วยนนยาแบบที่ตกแต่งด้วยการลงยาบนสีเคลือบ มีอายุสมัยเก่าที่สุดในช่วงราชวงศ์ชิง พ.ศ.๒๓๖๔ – ๒๔๙๓ แต่ถูกผลิตมากในช่วง พ.ศ.๒๔๐๕ – ๒๔๕๑ ซึ่งตรงกับยุครัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ซึ่งในช่วงเวลารัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงที่มีชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองแร่บนเกาะภูเก็ต “โถลายเขียนสี” หรือ “เครื่องถ้วยนนยา” ใบนี้จึงเป็นหลักฐานการเข้ามาของชาวจีนในช่วงเวลาดังกล่าวและยังสะท้อนถึงค่านิยมในเครื่องถ้วยจีนในสมัยนั้นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

- ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และนิสิต มโนตั้งวนพันธุ์. “เรียนรู้วัฒนธรรมเปอรานากัน (บ้าบ๋า ย่าหยา) จากเครื่องถ้วยนนยา,” วารสารนักบริหาร ๓๐, ๓ (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๓):, ๖๒– ๖๗.

- ณัฏฐภัทร จันทวิช. เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1903 ครั้ง)