...

๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ครบรอบ ๑๓ ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
๑๗ เมษายน ๒๕๖๕ ครบรอบ ๑๓ ปี
การเปิด"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์" อย่างเป็นทางการ
รำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ สังกัดสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จังตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รวบรวมสงวนรักษาจัดแสดงเรื่องราวและวัตถุทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา การท่องเที่ยว และสันทนาการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ มีจุดเริ่มต้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๗ จากข้าราชการและประชาชนร่วมกันรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในจังหวัดสุรินทร์จัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์เพื่อให้ประชาชนได้เยี่ยมชม ต่อมาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ได้อนุญาตให้ใช้ห้องประชุมเดิมขนาดพื้นที่ ๖ x ๖ เมตร จึงได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมาเก็บรักษาและจัดแสดง ณ อาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์
ลำดับต่อมา ในพุทธศักราช ๒๕๓๕ กรมศิลปากรมีนโยบายจะปรับปรุงและจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัด(พิพิธภัณฑ์เมือง) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้บรรจุโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ไว้ในแผนและได้ขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์บริเวณกิโลเมตรที่ ๔ ถนนปัทมนนท์(ช่วงสุรินทร์-ปราสาท) เป็นสถานที่สร้างอาคารจัดแสดง เริ่มก่อสร้างราวปลายปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒
พิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ทรงปลูกต้นกันเกรา ต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
อาคารและการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ มีลักษณะผสมผสานระหว่างปราสาทขอมโบราณกับเรือนอีสาน จัดแสดงเรื่องราวสำคัญทรงคุณค่ายิ่งของจังหวัดสุรินทร์ ๕ เรื่อง ดังนี้
ธรรมชาติวิทยา จัดแสดงลักษณะทางกายภาพของจังหวัด ได้แก่ ลักษณะทางธรณีวิทยา สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องข้าวหอมมะลิเนื่องจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ประวัติศาสตร์โบราณคดี จัดแสดงเรื่องราวของคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ราว ๒,๐๐๐ ปี ที่ผ่านมาจนถึงสมัยล้านช้าง-อยุธยา สิ่งที่น่าสนใจในส่วนนี้ ได้แก่ ภาชนะดินเผาที่คนในอดีตใช้ฝังศพ จากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ แต่ละใบสูงประมาณ ๑.๔๐ เมตร รวมทั้งเครื่องอุทิศที่มอบให้กับผู้ตายด้วย
ประวัติศาสตร์เมือง เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์จังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่พุทธศักราช.๒๓๐๒ ถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา การจัดแสดงในส่วนนี้ได้จำลองเหตุการณ์สำคัญ อาทิ เส้นทางรถไฟจังหวัดสุรินทร์ สภาพตลาดการค้าในยุคแรกๆ การศึกษาในอดีต
ชาติพันธุ์วิทยา เป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนสุรินทร์ ๓ กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง กลุ่มชาติพันธุ์กวยหรือกูยมีความเชี่ยวชาญในการจับและฝึกช้าง กลุ่มชาติพันธุ์เขมรเชี่ยวชาญการออกแบบผลิตผ้าไหมและเครื่องเงิน กลุ่มชาติพันธุ์ลาวมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายศรัทธาในพระพุทธศาสนาและยึดมั่นในขนบประเพณี การจัดแสดงในส่วนนี้มีการจำลองบ้านเรือน หุ่นจำลองการประกอบพิธีกรรม ภาพถ่ายและภาพวาดขนบประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ทั้ง ๓ กลุ่มชาติพันธุ์
มรดกดีเด่น เป็นการเรียบเรียงเรื่องราว และรวบรวมวัตถุอันเป็นมรดกทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนสุรินทร์ ได้แก่ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ผ้าไหมของแต่ละกลุ่มชน เครื่องประดับเงิน และเรื่องช้าง การจัดแสดงนำเสนอโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หุ่นจำลอง ภาพถ่าย วีดีทัศน์ และฉากจำลองบรรยากาศหมู่บ้านเลี้ยงช้าง เป็นสื่อให้หวลรำลึกถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ที่สั่งสมมาแต่อดีตตกทอดสานต่อเป็นวิถีถิ่นในปัจจุบัน
การเดินทาง เริ่มต้นจากหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๔ ถนนปัทมนนท์ (ช่วงสุรินทร์ – ปราสาท) ไปประมาณ ๔ กม. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อยู่ซ้ายมือ มีรถเมล์สาย ๒ (บ้านดงมัน – บ้านตะเคียน) ผ่านทั้งวัน แต่ละเที่ยวห่างกัน ๓๐ นาที
วันเวลาทำการ เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖๐๐ น.
ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่ตั้ง เลขที่ ๒๑๔ หมู่ ๑๓ ต.เฉนียง ถนนปัทมนนท์ (ช่วงสุรินทร์ – ปราสาท) อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์
รหัสไปรษณีย์ ๓๒๐๐๐ โทรศัพท์/โทรสาร ๐๔๔ - ๕๑๓๒๗๔
เรียบเรียงโดย นางปริญญา สุขใหญ่ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
บรรณานุกรม
ฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ,คณะกรรมการ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๔.
ศิลปากร, กรม นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์.กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนต์พับลิชชิ่ง จำกัด, พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๐.
ศิลปากร, กรม ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนต์พับลิชชิ่ง จำกัด, พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๐.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 567 ครั้ง)