ห้องสุพรรณบุรีวันนี้
จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม

                จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่บางส่วนเป็นเนินเขาสลับกับภูเขาสูงมีพื้นที่ประมาณ ๕,๓๕๘.๐๐๘ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๔๐ ประมาณ ๑๐๗ กิโลเมตร มีประชากร มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๘๔๔,๕๙๐ คน (สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๒) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ  ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี, อำเภอดอนเจดีย์, อำเภอบางปลาม้า, อำเภอสองพี่น้อง, อำเภอศรีประจันต์, อำเภอสามชุก, อำเภอเดิมบางนางบวช, อำเภออู่ทอง, อำเภอด่านช้าง, อำเภอหนองหญ้าไซ

                จังหวัดสุพรรณบุรีมีประวัติความเป็นมายาวนานปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว ๓๘๐๐ ปีมาแล้ว และเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  นับเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และแร่ธาตุ

                จังหวัดสุพรรณบุรี มีการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก มีศูนย์วิจัยเพื่อผลิตพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เป็นข้าวพันธุ์ดี อาทิ ข้าวสุพรรณบุรี ๑-๒ ข้าวสุพรรณบุรี ๖๐ ข้าวสุพรรณบุรี ๙๐และข้าวเจ้าหอมสุพรรณ นอกจากข้าวแล้วจังมีการปลูกพืชไร่ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเขียว แห้วจีน  โดยอ้อยเป็นพืชสำคัญรองจากข้าว ผลิตเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล นอกจากด้านการเกษตรกรรมแล้ว จังหวัดสุพรรณบุรีนี้ยังมีการสนับสนุนด้านปศุสัตว์และประมง อาทิ การเลี้ยงโคนม โคเนื้อ สุกร ไก่ เป็ด เป็นต้น ด้านประมงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาช่อน ปลาดุก และกุ้งก้ามกราม   ในภาคอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเครื่องมือการเกษตร โรงงานผลิตอุปกรณ์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก อุตสาหกรรมการผลิตอาหารกระป๋อง เช่น แห้ว กระจับ ลูกตาลในน้ำเชื่อม รวมถึงสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านและเครื่องจักรสาน

                จังหวัดสุพรรณบุรีมีนโยบายสนับสนุนให้ “เมืองสุพรรณบุรี”เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนในมากมาย อาทิ สวนเฉลิมพระเกียรติราชินีและหอคอยบรรหาร-แจ่มใส - เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง และมีหอคอยสูงสำหรับชมทัศนียภาพอันงดงามของตัวเมืองสุพรรณบุรี, วัดป่าเลไลย์วรวิหาร - พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ภายในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อโต พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ - เป็นวัดศูนย์กลางสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิ มีพระเจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น, วัดแค และคุ้มขุนแผน - เป็นวัดซึ่งปรากฏชื่อตามท้องเรื่องในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน, ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธ์มังกร เป็นศาสนสถานประจำเมืองสุพรรณบุรี ภายในประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ประทับยืน ๔ กร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธ์มังกร พิพิธภัณฑ์ที่สร้างอาคารจัดแสดงเป็นรูปตัวมังกรขนาดใหญ่ จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน, ตลาด ๑๐๐ ปีสามชุก - เป็นชุมชนย่านการค้าขายของ ชาวไทยเชื้อสายจีนในอดีตของจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค เอเชียและแปซิฟิกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประจำปี ๒๕๕๒, พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ -  สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๓๕, บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ - เป็นสถานีแสดงพันธ์สัตว์น้ำ พันธ์ปลาน้ำจืดน้ำเค็ม อุทยานผักพื้นบ้าน รวมทั้งจัดแสดงสัตว์หายากชนิดต่างๆ

                นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีทรัพยากรที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ทรัพยากรน้ำมัน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากบริษัทบีพีปิโตรเลียม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
(แห่งประเทศไทย) ดำเนินการผลิตน้ำมันครอบคลุมพื้นที่จังวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม โดยแห่งน้ำมันดิบที่ขุดพบจำนวน ๕ แหล่งด้วยกัน ได้แก่ แหล่งกำแพงแสน ตั้งอยู่ในตำบลลูกนก อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมมีหลุมผลิตน้ำมัน ๑ หลุม, แหล่งอู่ทอง  ตั้งอยู่ในตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีมีหลุมผลิตน้ำมันดิบ ๘ หลุม, แหล่งสังฆจาย ตั้งอยู่ในตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีมีหลุมผลิตน้ำมันดิบ ๓ หลุม, แหล่งบึงกระเทียม  ตั้งอยู่ในตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหลุมสำรวจน้ำมันดิบ ๑ หลุม, แหล่งหนองผักชี  ตั้งอยู่ในตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  มีหลุมสำรวจน้ำมันดิบ ๑ หลุม โดยมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ประมาณ ๕๐๐ บาร์เรลต่อวัน

(จำนวนผู้เข้าชม 721 ครั้ง)