องค์ความรู้ ไข้เลือดออก ( Dengue Hemorrhagic fever )

     เรื่อง ไข้เลือดออก ( Dengue Hemorrhagic fever )

     ในขณะที่ตอนนี้ผู้คนกำลังให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เราอาจจะลืมไปว่ายังมีโรคระบาดที่รุนแรงอย่างไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค และมักจะระบาดหนักในช่วงฤดูฝน

     โดยกรมควบคุมโรคออกมาเตือนการเกิดโรคไข้เลือดออกเป็นอีกหนึ่งโรคที่มาแรงสำหรับปี 2020 นี้ โดยตั้งแต่ต้นปี 1 มกราคมเป็นต้นมา มีผู้ป่วยทั่วประเทศแล้วมากกว่า 8,746 ราย และเสียชีวิตไปแล้วถึง 6 ราย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบอัตราป่วยมากสุด คือ เด็กๆ อายุระหว่าง 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และอายุแรกเกิดถึง 4 ปี ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า เด็กเล็กนั้น มีความเสี่ยงในการติดโรคอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

     เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก เรามารู้จักกับโรคนี้ทั้งระยะของโรค อาการ และการรักษาป้องกัน

     - โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (Dengue) โดยมียุงลายที่เป็นพาหะนำโรค เชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายคนโดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด จากนั้นยุงลายก็จะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ต่อไป (ในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร) ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อเข้าร่างกายและ จะมีอาการ ไข้ขึ้นสูงหลายวัน, ปวดศีรษะ คล้ายอาการของไข้หวัด แต่จะมีอาการร่วมเป็นอาการปวดกระบอกตา, ปวดกล้ามเนื้อ, เมื่อยเนื้อตัว, ท้องอืด, มีผื่นแดงขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใบหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอาการเฉพาะของ โรคไข้เลือดออก

ระยะของโรคไข้เลือดออก แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะหลักๆ ได้แก่

     - ระยะไข้ ระยะนี้ไข้สูง 39-40 °C นานเกิน 4-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร ท้องอืด เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และอาจจะชัก ใบหน้าแดงในระยะนี้ได้

     - ระยะวิกฤต ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเย็นขึ้น ปัสสาวะน้อย มีอาการท้องอืด ระยะอาจจะเกิดอาการอันตรายอย่างอาการช็อกได้

     - ระยะฟื้นตัว หลังจากผ่านช่วงวิกฤตมาแล้ว ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปวดหัวลดลง อยากอาหาร ซึ่งหากผู้ป่วยเกิดอาการช็อก แล้วได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 วัน

การรักษาโรคไข้เลือดออกนั้น ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้นให้งดกินยาประเภทแอสไพรินและยาต้านการอักเสบ ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือแร่เสริม และดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่วนวิธีป้องกัน เนื่องจากโรคนี้มีพาหะนำโรคเป็นยุงลาย เราจึงต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สวมใส่เสื้อแขนยาวขายาว และทายากันยุงสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการถูกแมลง ถูกยุงลายกัด

     ในสมัยก่อนได้มีการรักษาโรคต่างๆด้วยสมุนไพรและการบริหารร่างกาย อย่างเช่น หนังสือหายากเล่มหนึ่ง ได้บันทึกเกี่ยวกับโครงภาพฤๅษีดัดตนและตำรายาอายุวัฒนะ เพื่อเป็นตัวอย่างการรักษาด้วยการบริหารร่างกายประกอบกับการรับประทานยาทำให้ไข้และสามารถรักษาได้หายจริงในสมัยเริ่มตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่ศิริราชพยาบาล จึงได้บักทึกไว้ในหนังสือหายากจารึกวัดพระเชตุพน ตอน โคลงภาพฤๅษีดัดตนและตำรายาอายุวัฒนะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

ไข้เลือดออก. กรุงเทพฯ : กรมควบคุมโรคติดต่อ, 2536.

เลขหมู่ 616.157 ก169ร

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ไข้เลือดออก. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน, 2546.

เลขหมู่ 616.157 ส846ร

จารึกวัดพระเชตุพน ตอน โคลงภาพฤาษีดัดตน. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2534

เลขหมู่ 615.822 ค319ก

ข้อมูลสถิติ

กรมควบคุมโรคติดต่อ

ผู้เรียบเรียง นางสาววารุณี วิริยะชูศรี บรรณารักษ์ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ

(จำนวนผู้เข้าชม 595 ครั้ง)